“EV เป็นวาระแห่งชาติ เป็นโอกาสของทั้งประเทศ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุน...” - Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้"

“EV เป็นวาระแห่งชาติ เป็นโอกาสของทั้งประเทศ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุน...”

พูนพัฒน์ โลหารชุน

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด (Evolt Technology)

 

        ตั้งแต่ช่วงกลางปีต่อเนื่องถึงสิ้นปี 2565 เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงคุ้นชินกับตัวเลขอัตราการเติบโตของยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ที่พุ่งทยานกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน

        อัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับคนในแวดวงยานยนต์ไฟฟ้า เพราะเป็นสิ่งที่คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าธุรกิจ EV เป็นเทรนด์รักษ์โลก หรือ E-Mobility Ecosystem ที่กำลังจะมาแรง

        สภาพตลาดรถอีวีที่พุ่งแรงในช่วงนี้เป็นผลมาจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ และการเข้าทำตลาดไทยอย่างเต็มตัวของค่ายรถไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างบีวายดี และเทสลา

        ตัวเลขยอดจองที่ประกาศว่าทะลุหลักหมื่นคันของทั้ง 2 ค่าย ทำให้หลายคนกังวลถึง Infrastructure โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสถานีชาร์จที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าจะเพียงพอหรือไม่?

        ความพร้อมในด้านสถานีชาร์จคงไม่มีใครยืนยันหรือให้ความเชื่อมั่นได้ดีเท่าผู้ประกอบการในธุรกิจนี้

        แน่นอนว่า คุณพูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด (Evolt Technology) ผู้บุกเปิกธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการมีพนักงานเพียง 1 คน จนปัจจุบันมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 70 คน จะเป็นผู้ยืนยันความพร้อมของธุรกิจ  EV Charging Station ได้เป็นอย่างดี




-วิเคราะห์สถานการณ์พลังงานทางเลือกในปัจจุบัน และแนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

        การเติบโตของรถไฟฟ้าปัจจุบันถ้าดูตัวเลขถึงเดือนสิบ ปี 2022 ข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) มีรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ BEV จดทะเบียนประมาณ 11,000 คัน  รถปลั๊กอินไฮบริด PHEV ประมาณ 40,000 คัน ถือว่ามีการเติบโตก้าวกระโดดมาจากต้นปี เพราะมีค่ายรถยนต์ใหม่ๆ เข้ามาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับตลาดเยอะ การเติบโตของรถไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการมีรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าออฟเฟอร์ให้กับผู้บริโภคมากพอ ถ้าผู้บริโภคมีตัวเลือกมากเท่าไหร่ ก็มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น การมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสองค่ายที่ใหญ่ที่สุดของโลกเข้ามาทำตลาดช่วงปลายปี ยิ่งสร้างความตื่นตัวและอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ตอนนี้ฐานผู้ใช้รถอีวีในไทยยังต่ำ อัตราการเติบโตปีละ 100-200% ถือเป็นเรื่องธรรมดา


-ตัวเลขจดทะเบียนและยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้น ไม่ทราบว่าจำนวนสถานีชาร์จตอนนี้มีเพียงพอหรือไม่

        ก่อนหน้านี้สถานีชาร์จมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราเติบโตเป็นดับเบิ้ลทุกปี ดูจากข้อมูลวิจัยแล้ว ในประเทศไทยตัวเลขที่เหมาะสมคือ 0.1 ทราฟฟิคสเตชั่นรถไฟฟ้าหนึ่งคัน หรือเทียบจากรถ 10 คันต่อทราฟฟิคสเตชั่น เพราะฉะนั้นตัวเลขนี้จะสูงต่ำขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของคนแต่ละประเทศ บางประเทศอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน บางประเทศอยู่ตามคอนโด อัตราสถานีชาร์จจึงแตกต่างกัน อย่างในไทย อัตราที่เหมาะสมคือ 0.1 ฉะนั้นถ้าจำนวนรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อินฟรานสเตชั่นที่รองรับต้องเพิ่มขึ้นตามอัตราประมาณนี้ คือ 0.1


-ตอนนี้สถานีชาร์จที่มีอยู่มีจำนวนที่เหมาะสมหรือยัง

        ตอนนี้สถานีชาร์จมี 2,500 หัวจ่าย เป็นตัวเลขอัพเดทเมื่อเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา เทียบกับรถไฟฟ้าที่มีอยู่ 11,000 คัน ถ้าดูตามสัดส่วนถือว่าเหมาะสม รองรับจำนวนรถที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ แต่ถ้าจำนวนรถเพิ่มขึ้น สถานีชาร์จต้องเติบโตตามแน่นอน จำนวนสถานีชาร์จต้องโตควบคู่กับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า


-แสดงว่าในเชิงธุรกิจ ยังมีอนาคตอีกเยอะ ขยายตัวได้อีกมหาศาล

        ส่วนของสถานีชาร์จยังขยายตัวได้อีกมาก ในเชิงธุรกิจ 80% จะชาร์จที่บ้าน ฉะนั้นโอกาสทางธุรกิจโฮมชาร์จเจอร์ถือเป็นโอกาสที่ใหญ่มากๆ จะมีมาร์เก็ตแคปใหญ่มากๆ ในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่แค่รถพาสเซนเจอร์คาร์ และรถส่วนบุคคล ยังมีรถสาธารณะที่สามารถเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าได้ เพราะฉะนั้นก็จะเป็น opportunity เป็นโอกาสหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับ ภาคขนส่ง ราคาน้ำมันมีการขึ้นลง และนับวันจะมีราคาสูงขึ้น ทำให้การควบคุมต้นทุนค่าขนส่งทำได้ยากขึ้น ไฟฟ้าเป็นตัวตอบโจทย์ เพราะมีการคงราคาไว้ ระยะ 3 ปี 5 ปี ให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรม ฉะนั้นถ้าใช้รถไฟฟ้าจะควบคุมต้นทุนได้ง่ายกว่า เมื่อราคาพลังงานต่อกิโลเมตรต่ำกว่า ต้นทุนของค่าขนส่งย่อมลดลง


-รถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนค่าพลังงานต่อกิโลเมตรอยู่ที่เท่าไหร่

        ถ้าเป็นรถขนาดเล็ก รถส่วนบุคคล ต่อกิโลเมตรอยู่ที่ 50 สตางค์ ขณะที่รถใช้น้ำมันต้นทุนพลังงานอยู่ที่ประมาณ 2-3 บาท/กิโลเมตร มีความแตกต่างที่ชัดเจน ยิ่งถ้าเป็นภาคขนส่งที่ต้องใช้รถวิ่งเยอะๆ จะยิ่งเห็นความแตกต่าง ดังนั้นถ้าเป็นในเรื่องของการลงทุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่า




-การที่รัฐบาลขึ้นค่าไฟฟ้าจะมีผลต่อต้นทุนค่าพลังงานเยอะไหม

        รัฐบาลขึ้นค่าไฟฟ้าประมาณ 20% จะมีผลทำให้เชื้อเพลิงไฟฟ้าสูงขึ้น 20% แต่ถือว่ายังห่างไกลจากราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันสูงกว่าไฟฟ้า 4 เท่า ก็คือ 400% ขึ้นมา 20% ถือว่าเล็กน้อยมาก ถ้ามองในมุมของตัวอีวีนะ ถ้ามองในภาคการผลิต โอเคเขากระทบ เพราะค่าไฟเป็นต้นทุนในการผลิตหลาย ๆ อย่าง


-ตอนนี้กระแสรถไฟฟ้ามาเต็มๆ รัฐบาลก็ส่งเสริม

        เป็นบรรยากาศที่ดี ถ้ามองภาพใหญ่ รัฐบาลต้องแข็งขันแล้วว่าจะดึงฐานการผลิตต่างๆ มาที่ไทยอย่างไร ต้องแข่งกับคู่แข่งประเทศต่างๆ ในอาเซียน อย่างอินโดฯ เขามีแผนในการดึง ในการจีบค่ายใหญ่เข้าไปลงทุน ของไทยเราอาจจะมีอุปสรรค แต่ถ้าทำแผนส่งเสริมที่ดีย่อมสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ บีโอไอสามารถออกมาตรการจูงใจนักลงทุนได้ พอดึงดูดฐานอีวีเข้ามาได้ก็จะทำให้เติบโตได้มากขึ้นอีก พออีวีเติบโตการใช้น้ำมันก็จะลดลง การนำเข้าน้ำมันลดลง เศรษฐกิจจะมั่นคงขึ้น


-ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในปัจจุบันจะเพียงพอรองรับตลาดอีวีที่ขยายตัวไหม จะไปแย่งไฟฟ้าใช้กับภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนไหม

        ปัจจุบันอินฟรานสตรัคเจอร์ยังมี capacity เหลือใช้ในประเทศอยู่พอสมควร การที่จะขยายสถานีต่างๆ ทางการไฟฟ้าฯ มีการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลว่าจะเติบโตเร็วแค่ไหน ส่งผลต่อภาพรวมการใช้พลังงานแค่ไหน


-มีการพูดว่าถ้ามีการชาร์จไฟฟ้าแบบเร็วพร้อมๆกันอาจทำให้ไฟตก ไฟไม่พอใช้ในห้างหรือคอนโดฯหรือเปล่า

        เพียงพอครับ เพราะจะเห็นว่าประเทศไทยไม่ค่อยเจอปัญหาไฟดับ ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ รอบๆ เรา แสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีการจัดการดีมานด์ซัพพลายของการใช้ไฟฟ้าได้ดี ตรงนี้ไม่น่าเป็นห่วง ภาครัฐเก่งมากอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าก็ยังเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิต ยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก ถ้าปริมาณการใช้ไฟยังเพิ่มขึ้นก็ยังมีพลังงานทางเลือกอื่น ที่ภาครัฐวางมาเสริมให้รองรับการใช้พลังงานได้


-รูปแบบการให้บริการของ Evolt Technology ในปัจจุบัน นอกจากมุ่งหาพันธมิตรแล้ว มีการให้บริการรูปแบบ อื่นอีกหรือไม่

        รูปแบบการให้บริการของอีโวลท์จะมุ่งหาพันธมิตร มุ่งให้บริการสถานีชาร์จอย่างเต็มที่ เราโฟกัสในเรื่องของการหาพันธมิตรในการลงทุน หาพันธมิตรในการขยายธุรกิจตรงนี้ เพื่อจะทำให้ตลาดรถไฟฟ้าแข็งแรง เราตั้งเป้าทำเบื้องหลัง ทำด้านอินฟราสตรัคเจอร์ ไม่ได้ไปทำธุรกิจเกี่ยวกับตัวรถยนต์ เน้นทำอินฟราสตรัคเจอร์ของ EV ให้แข็งแรง สร้างความมั่นใจให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น


-การหาพันธมิตรมีขั้นตอนอย่างไร หรือหากมีใครสนใจจะลงทุนทำสถานีชาร์จต้องทำอย่างไร

        กลยุทธ์ในการขยายสถานีชาร์จ เรามีดาต้าอยู่แล้ว ตอนนี้มีข้อมูลอยู่ประมาณ 300 สถานี จะดูว่ากลุ่มไหนมีการใช้งาน แล้ววางแผนเข้าไปแอพโพรสกลุ่มนั้น ในการขยายสถานี รวมถึงการสร้างพันธมิตรต่าง ๆ นอกจากสร้างพันธมิตรโดยการขยายสถานี เรายังมุ่งสร้างพันธมิตรโดยการขยายฐานลูกค้า ด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้า อย่างเช่นเรื่องของโปรโมชั่นต่างๆ




-สมมติว่ามีคนสนใจทำธุรกิจนี้ มีทำเลอยู่ สามารถเข้ามาคุยเลยได้ไหม

        แอพโพรสเข้ามาได้เลยครับ เราเองเปิดกว้างให้เข้ามาคุย ว่าทำเลมีศักยภาพขนาดไหนในการลงทุน เราก็จะประเมินเบื้องต้นให้ จริงๆ เรามี criteria ในการลงทุนอยู่แล้ว มีขั้นตอนคือพอคุยกับเจ้าของพื้นที่แล้ว ก็ประเมินแล้วคุยกับคณะกรรมการดู criteria ต่างๆ มีความเหมาะสมกับการลงทุน ลงทุนไปแล้วคุ้มทุนหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยอนุมัติการลงทุน


-หลักการเบื้องต้นในการสร้างสถานีชาร์จดูจุดไหนบ้าง

        ต้องดูโลเคชั่น ทราฟฟิค ดูพื้นที่ว่าเป็นรูปแบบไหน เช่น ห้าง คอนโด โรงแรม ออฟฟิศ และทราฟฟิกจำนวนรถไฟฟ้าว่ามีมากน้อยแค่ไหน เข้าไปทำร่วมกันแล้วธุรกิจต้องไปได้


-ต้องใช้เงินลงทุนเยอะมั้ย

        การลงทุนมี 2 รูปแบบ คือ Normal Charge  กับ Quick Charge ส่วนของ Normal Charge ลงทุน 1-2 แสนบาทต่อหัวจ่าย Quick Charge ใช้เงินลงทุน 1 ล้านบาทต่อหัวจ่าย


-ตอนนี้มีคนสนใจเข้ามาลงทุนมากน้อยแค่ไหน

        มีติดต่อเข้ามาเยอะมาก เป็นกลุ่มธุรกิจ อย่างเช่นร้านอาหาร คอนโด มันเป็นเทรนด์อยู่แล้วว่ารถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เขาก็จะมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าเพื่อดึงดูดลูกค้า การที่มีสถานีชาร์จมีข้อดีคือสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และเป็นจุดขายจุดหนึ่ง


-ในแง่ความคุ้มทุนจะคืนทุนประมาณเมื่อไหร่

        จุดคุ้มทุนขึ้นอยู่กับทราฟฟิค และอัตราการใช้งาน เราเองมองว่าปัจจุบันด้วยจำนวนรถ ด้วย behaviour ต่างๆ จะคุ้มทุนภายใน 5-7 ปี


-สมมติตกลงกันแล้ว ขั้นตอนในการสร้างสถานีชาร์จนานไหม ตั้งแต่เข้าไปประเมินจนถึงสร้างเสร็จ

        เรามีการประเมิน มีเข้าไปเซอร์เวย์หน้างาน มีการติดตั้ง สั่งของ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน


-ยิ่งมีประสบการณ์ก็จะยิ่งสร้างได้เร็ว

        ตอนนี้งานมีการขยายตัวเยอะ แต่เรามีสต็อก ทำให้สามารถติดตั้งและขยายสถานีได้เร็ว ตอนนี้เราเอง ทำงานติดตั้งหลังบ้านให้กับหลายๆ ค่าย ทำให้มีทีมงานที่พร้อมรองรับการขยายได้เร็ว และมีการให้บริการหลังการขาย


-ตัวหัวชาร์จทำของแบรนด์ไหนบ้าง หรือแล้วแค่ลูกค้าจะระบุมา

        เรามีแบรนด์ที่เป็นพาร์ทเนอร์ และเป็นดีลเลอร์ มีซัพพลายเออร์หลัก ๆ อยู่แล้ว มีหลายเรนจ์อยู่เหมือนกัน มีตั้งแต่โฮมชาร์จเจอร์ไปจนกระทั่งดีซีฟาสต์ชาร์จ ตัวอุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์เราไม่ได้ทำในชื่ออีโวลท์อย่างเดียว เช่น เราเป็นพาร์ทเนอร์กับเดลต้า อิเล็กทอร์นิกส์ เป็นดีลเลอร์ให้เขา มีแบรนด์เพาเวอร์คอลล์ของจีน ซัพพลายให้กลุ่มสถานีบริการน้ำมัน แต่ละแบรนด์ขึ้นอยู่กับงบประมาณ สเปค ที่พันธมิตรวางไว้


-ตอนนี้มีความต้องการสถานีชาร์จประเภทไหนมากกว่ากัน

        มองว่าตอนนี้ความต้องการไม่แตกต่างกัน Normal Charge (AC) มีความต้องการติดตั้งตามบ้าน และในต่างจังหวัด  แต่ Quick Charge (DC) ติดตั้งตามสถานีบริการน้ำมัน ไฮเวย์ หรือศูนย์การค้า ตามเป้าหมายของทางภาครัฐ หรือเอกชน อย่าง PEA  EGAT หรือ OR เขามีเป้าหมายจำนวนสถานีค่อนข้างชัดเจน และสร้างเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันใกล้ ฉะนั้นดีมานด์ของตัว DC ค่อนข้างสูง


-อีโวลท์ทำร่วมกับหน่วยงานเหล่านี้

        เราเป็นซัพพลายเออร์ให้ เนื่องจาก EV เป็นวาระแห่งชาติ เป็นโอกาสของทั้งประเทศ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชนมาลงทุนเอง ฉะนั้นเราจะเห็นว่ามีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาธุรกิจนี้เยอะ ดังนั้นต้องวิ่งตามน้ำไป ขายสินค้าตามธุรกิจที่เติบโต


-คู่แข่งของอีโวลต์เป็นใครบ้าง

        พอเราทำธุรกิจแบบ Full Range ทำให้มีคู่แข่งต่างๆ อยู่ในแต่ละขา ในแต่ละแอเรียอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นคู่แข่ง เพราะตลาดในปัจจุบันยังเติบโตได้อีกมาก การมีคนเข้ามาทำธุรกิจนี้มาก ย่อมทำให้ฐานใหญ่ขึ้น คนที่มาทำธุรกิจคล้ายกันในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาค่อนข้างเยอะมาก ถ้าเราฟังข่าวจะได้ยินคำว่าอีวีทุกวัน ไม่มีวันไหนไม่ได้ยินคำว่าอีวี ทุกคนก็มองว่าเป็นโอกาส ก็วิ่งเข้ามา อยู่ที่ว่าแต่ละคนที่วิ่งเข้ามานี่จะมาเติมเต็ม มาช่วยกันสร้าง Eco systemของรถไฟฟ้าจุดไหน บางคนผลิตรถ ผลิตมอเตอร์ไซค์ ทำสถานีชาร์จ ทำงานติดตั้ง บางคนทำในเรื่องของการขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีผู้เล่นเข้ามาค่อนข้างเยอะ มองว่าการเข้ามา เป็นการเข้ามาเสริมทำให้ตลาดเติบโตได้เร็วขึ้น


-ตอนนี้ในกลุ่มสถานีชาร์จด้วยกัน มีการแข่งขันในด้านราคาไหม

        ไม่มีการแข่งขันตัดราคา เพราะแต่ละเจ้ามีฐานราคาของเขาเองอยู่แล้ว ไม่ได้มีการปรับลด หรือปรับเพิ่ม ไม่ได้แข่งเดือด


-เป็นเพราะตลาดอีวียังขยายตัวสูง

        แต่ละคนจะแข่งขันในเชิงแยก strategy location เชิงการขยายตัว แข่งกันขยายมากกว่า ในเชิงความร่วมมือก็มี เช่นRoaming ของ Charging Consortium โอปะเรชั่นหลักๆ จับมือกันเพื่อที่จะสามารถแชร์ข้อมูลของสถานีชาร์จข้ามผ่านแพล็ตฟอร์มได้


-แตกต่างจากธุรกิจอื่นที่ห้ำหั่นกัน แต่อันนี้จับมือกัน

        จับมือกันเพื่อที่จะต่างคนต่างไปขยายออก ถ้าไม่จับมือกัน พอลูกค้าไม่อยากใช้ การสร้างรีเทิร์นในสถานีจะค่อนข้างยาก


-การชาร์จถ้าเทียบกับเติมน้ำมันใช้เวลามากกว่า เป็นอุปสรรคกับธุรกิจนี้มากน้อยแค่ไหน

        เป็นอุปสรรคที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาเติมนานกว่า สมมติชาร์จตามปั๊มต้องใช้เวลา 20 นาที ถึงครึ่งชั่วโมง ไม่เหมือนน้ำมันใช้เวลาแค่ 5-10 นาที การใช้เวลามากกว่าเท่าตัวเป็นอุปสรรค แต่ว่าด้วยเทคโนโลยีสามารถทำให้เติมได้เร็วขึ้น ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเครื่องชาร์จ เทคโนโลยีตัวรถยนต์เองก็ตาม ต้องพัฒนาขึ้นมารองรับ

        ถึงแม้ปัจจุบันเทคโนโลยีเครื่องชาร์จจะพัฒนาไปไกล หากรถยนต์ยังไม่รองรับก็ไม่ได้ คือมีปัจจัยในเรื่องราคาของเทคโนโลยี รถยนต์ในแต่ละรุ่น ในแต่ละเซ็กเมนท์ ถูกออกแบบมาให้ชาร์จได้เร็วแค่ไหน ถ้าคุณจะชาร์จเยอะมาก ๆ ต้องมีอุปกรณ์อะไรต่างๆ ที่ไฮเทคมากๆ ทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้นแต่ละเซ็กเมนท์ตอบโจทย์การใช้งานแต่ละกลุ่มไป กลุ่มวิ่งในเมือง วิ่งข้ามเมือง ถ้าเป็นในเมืองก็ชาร์จเร็วหน่อย


-มีโอกาสที่จะขยับเวลาชาร์จให้เร็วขึ้นไหม

        มีครับ ในอนาคตจะมีเครื่องชาร์จที่มีกำลังไฟที่สูงขึ้น ชาร์จได้เร็วขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว การลงทุนย่อมสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องรอเวลา เหมือนโซลาร์เซลล์ เมื่อก่อนราคาสูง ตอนนี้ราคาค่อยๆลดลงตามเทคโนโลยีที่กระจายตัวออกไป และราคาเป็นไปตามวอลุ่มความต้องการ


-เวลาชาร์จเร็วจะมีผลต่อแบตฯเสื่อมไหม

        โดยเทคนิคอลนี่ ไม่ควรใช้ตัวฟาสต์ชาร์จบ่อยนัก ไม่ควรให้เกินกว่า 20% ของการชาร์จทั้งหมด การชาร์จที่ดีที่สุด ควรกลับบ้านไปชาร์จเติมไฟฟ้าทุกวันๆ ให้มันเอ็กเซอร์ไซส์แบตไป เหมือนการชาร์จมือถือ ชาร์จเร็วควรจะชาร์จเฉพาะการเดินทางที่จำเป็น เวลาต้องเดินทางระยะไกล เพื่อถนอมแบตฯไว้ใช้ได้นาน


-พวกสถานีสลับแบตจะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้บ้างไหม

        มองว่าสถานีสลับแบตยังไม่ตอบโจทย์แพสเซนเจอร์คาร์ เนื่องจากแบตฯที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักค่อนข้างเยอะ การสลับแบตค่อนข้างใช้ความซับซ้อน ใช้องค์ประกอบต่างๆมาช่วยเยอะ จะเหมาะสำหรับมอเตอร์ไซค์หรือรถขนาดเล็กมากกว่า รถแพสเซนเจอร์คาร์ขนาดเล็กอย่างตุ๊กๆ อาจจะเป็นไปได้ แต่ต้องมีตัววอลุ่ม มีสถานีสลับแบตให้มากพอ


-ปัจจุบันสถานี supercharger ของเทสลาถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหนือกว่าเจ้าอื่น

        ที่ศึกษามา เทคโนโลยีเทสลาดีตรงที่เขาควบคุมตัว User Experience และเทคโนโลยีทั้งหมดใน Close Loop ทำให้สามารถส่งข้อมูลถึงกันได้หมดในเรื่องของสถานีชาร์จ และการใช้งานรถยนต์ สามารถเอาไปวิเคราะห์ได้ว่า รถคุณแบตเตอรีต่ำถึงเท่าไหร่ ควรจะวิ่งไปชาร์จจุดไหน สมมติเป็นเติร์ดปาร์ตี้ อาจจะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะมันแยกกันอยู่ พอเอาข้อมูลมารวมกัน ข้อดีคือทำให้เวลาชาร์จสั้นที่สุด การหยุดชาร์จน้อยที่สุด แบตเตอรีมีการใช้งานเต็มประสิทธิภาพที่สุด ข้อมูลพวกนี้เอไอเอาไปวิเคราะห์ออกมาเป็น Output ออกมาเลยว่ารถคุณควรจะวิ่งไปไหน จะวิ่งไปชาร์จที่ไหน


-นอกจากวิเคราะห์การใช้งานแล้ว ระบบ Close Loop ยังช่วยประมวลผลด้านใดอีกบ้าง

        ถ้าพูดถึงแบตเตอรี่จาก 0-100 รถคุณชาร์จที่ 50 ความเร็วการชาร์จต่างกัน อย่างที่ 20 ความเร็วการชาร์จเร็วกว่าชาร์จที่ 50 ตัวชาร์จจะเป็นเคลิฟ เป็นช่วงขึ้นเคลิฟ เทสลาจะ Optimiz เลยว่าชาร์จที่แบตเตอรี่เท่าไหร่ กี่นาที ถึงเร็วที่สุดใช้เวลาน้อยที่สุด นี่คือข้อดีของเทสลา ตัวเทคโนโลยีรถไฟฟ้าไม่ได้แตกต่าง แต่เทคโนโลยีในเรื่องของดาต้า ในเรื่องของการทำเอไอ ในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาแตกต่าง เพราะมีข้อมูลที่ครบ โดยทำรองรับเฉพาะกลุ่มรถของเทสลาเอง


-รถเทสลาไปชาร์จของสถานีอื่นได้มั้ย

        ใช้ได้หมด ด้วยมาตรฐานอุตสาหกรรมถูกกำหนดให้ตัวหัวชาร์จเป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ มาตรฐานหัวชาร์จมีทั้งหมด 3 มาตรฐาน มีของอเมริกา/ญี่ปุ่น ของยุโรป และจีน เราใช้มาตรฐานยุโรป ฉะนั้นหัวชาร์จที่ยุโรปกับไทยจะเป็นแบบเดียวกัน


-เท่าที่ติดตามข่าว เห็นจะมีการกำหนดมาตรฐานหัวชาร์จ สถานีชาร์จ

        ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นมาในปัจจุบันจะมีคณะกรรมการกำหนดนโยบายรถไฟฟ้าแห่งชาติ มีทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงต่างๆ เข้ามาสนับสนุน กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาในส่วนของการกำหนดมาตรฐาน กระทรวงพลังงานเข้ามาในส่วนของการวิเคราะห์ว่าพลังงานในประเทศมีความเพียงพอต่อการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าใน 5-10 ปีข้างหน้าหรือเปล่า เขาต้องมีการทำเป็นแผนออกมา


-เป็นธุรกิจที่รัฐบาลหนุนเต็มที่

        ผมเข้าใจบริบทในไทยนะ เราเป็นฐานการผลิตรถน้ำมันมายาวนาน ถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศมายาวนาน การปรับเปลี่ยนต้องดูบริบท ไม่ใช่ว่าปรับเปลี่ยนได้เร็วเหมือนนอร์เวย์ เขาไม่ได้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ เขามีพลังงานสะอาดเยอะอยู่แล้ว สามารถปรับเปลี่ยนได้เหมือนพลิกฝ่ามือเลย เราเองมีซัพพลายเชน มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรถน้ำมันอยู่ค่อนข้างเยอะ รัฐบาลต้องดูแลให้ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนผ่าน ไม่อย่างนั้นเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจพัง ถามว่าทำไมประเทศไทยรถไฟฟ้ามาช้ากว่าประเทศอื่น คิดว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง ผมอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็อยากให้มาเร็ว แต่ต้องมองภาพใหญ่ของประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน




-ตอนนี้มีรถอีวีประมาณกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรถน้ำมัน

        สัดส่วนของรถไฟฟ้าในไทยยังต่ำมาก ไม่ถึง 1% ยังมีโอกาสเติบโตอีกเยอะ ไม่ถึง 1% ก็จริง แต่ประมาณ 10% ของยอดขายรถในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปีที่ผ่านมาเป็นรถไฟฟ้า นับว่ามีทิศทางการขยายตัวที่ก้าวกระโดด


-ถ้าขยายตัวเต็มที่สัดส่วนที่เหมาะสมควรจะประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด

        ถ้าดูจากตัวเลขที่ทางภาครัฐเขาประเมินว่าภายใน 2030 จะให้มียอดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ยังมีโอกาสอีกเยอะ


-รถยนต์สันดาปภายในก็จะค่อยๆ หายไปจากท้องถนน

        ค่อยๆ ลดลง คงไม่ได้หายไปในเร็ววัน ภายใน 10 ปีนี้จะค่อยๆ ลดสัดส่วนลง รถไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น


-ที่ว่ายอดรถไฟฟ้าโตเร็ว สถานีชาร์จการเติบโตเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

        อีโวลท์เองเติบโตประมาณ 100% จากเดิมมี 150 หัวจ่าย ปีนี้มีประมาณ 300 หัวจ่าย เติบโตเท่าตัว เป้าหมายปี 2566 เราจะทำให้ถึงประมาณ 600 หัวจ่าย เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว สามารถเป็นไปได้  เรากำลังหางบประมาณมาลงทุน


-จำนวน 5,000 หัวจ่ายนี่จะทำได้เมื่อไหร่

        ตั้งเป้าไว้ประมาณ 5 ปี


-ธุรกิจแบบเก่าใช้วิธีระดมทุน หาคนมาลงหุ้น แต่อีโวลท์เป็นแบบสตาร์ทอัพ

        ปัจจุบันเราทำฟันด์ เรสชิ่งไปแล้วหนึ่งรอบ มีนักลงทุนไทยอย่างบ้านปูเข้ามาเพิ่มทุน ทำให้ธุรกิจเราต่อยอดได้ง่ายขึ้น เป็นการต่อยอดในเชิงของกลยุทธ์ที่สอดคล้องกัน และต่อยอดในเชิงที่มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาให้ขยายธุรกิจไปได้ เป็นแบบค่อยๆเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้ใช้เงินก้อนใหญ่มากมายนัก ค่อยๆระดมทุนมาทีละนิดทีละหน่อยให้สอดคล้องกับภาพธุรกิจที่อยากให้เติบโต ที่ผ่านมาแต่ละปีเราก็เติบโตประมาณ 100%  ทุกปี


-การจับมือกับบ้านปู เป็นความร่วมมือด้านใดบ้าง

        หลังจากบ้านปูเข้ามาลงทุนร่วมกันก็เกิดความร่วมมือทางธุรกิจหลายๆ อย่างด้วยกัน เช่น บ้านปูเน้นโซลูชั่นพลังงานสะอาด พลังงานแบบใหม่ค่อนข้างเยอะ ทำให้มีการไปลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีวีหลายๆ อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เมื่อไปลงทุนเขาสามารถจูงมือเราไปร่วมด้าน synergies ทำให้มีการลงทุนหลาย ๆ อย่าง


-บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ มีทุนพร้อม มีอะไรพร้อม

        บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำ ที่ผ่านมาเน้นทำธุรกิจด้านถ่านหิน พอมาในเจนเนอเรชั่นใหม่ คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ ซีอีโอของบ้านปู ต้องการทำในเรื่องของพลังงานสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ เอนเนอร์จี้สตอเรจ หรืออีโมบิลิตี้อะไรพวกนี้ คือให้ความสำคัญเกี่ยวกับพลังงานสะอาดมากขึ้น ต้องการทำให้ประเทศไทยก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด อีวีถือเป็นขาหนึ่ง สมมติคนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ถ้าจะให้เป็นพลังงานสะอาดได้ วัตถุดิบที่เอามาผลิตไฟฟ้าต้องมาจากพลังงานสะอาด ซึ่งน้ำมันไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล

 


เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้

อินชัวร์เฟรนด์โบรกเกอร์
Call : 063-636-5456  |  02-114-6464
Line ID: @insurefriend ( คลิก http://lineid.me/insurefriend )

My Instagram

Copyright © Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้".