ก่อนติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในบ้านควรเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าอย่างไร? - Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้"

ก่อนติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในบ้านควรเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าอย่างไร?

        การตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีความแตกต่างจากรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลายๆ ประการ จุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้าคือเป็นยานพาหนะที่สามารถเติมเชื้อเพลิงได้เองในบ้านทำให้มีความสะดวกในการใช้งาน อย่างไรก็ตามก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้า (Wallbox) เอาไว้ในบ้าน ควรคำนึงถึงความปลอดภัย และควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านให้พร้อมสำหรับการใช้งาน ดังนี้

        1.ตรวจดูขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า โดยปกติขนาดมิเตอร์ของบ้านพักอาศัยทั่วไปจะใช้เป็น Single-Phase 15(45) A ซึ่งหมายถึง มิเตอร์ขนาด 15 A สามารถใช้ไฟได้มากถึง 45 A สำหรับผู้ที่ต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าภายในบ้านนั้น โดยทั่วไปเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าภายในบ้านจะใช้กำลังไฟสูงถึง 32 A หากมีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟหลายชนิดพร้อมกับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้กำลังไฟไม่เพียงพอ และมีโอกาสที่ทำให้ไฟตกได้ ดังนั้น ทางการไฟฟ้าจึงมีการแนะนำให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็น Single-Phase 30(100) A หรือ 3-Phase 15(45) A เพื่อให้มิเตอร์มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อป้องกันการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไป

        2.สำรองช่องว่างตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) ให้มีอย่างน้อย 1 ช่องสำหรับติดตั้ง Circuit Breaker เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีช่องส่วนตัวแยกการใช้งานจากเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ถ้าตู้ควบคุมไฟฟ้าที่มีอยู่ไม่มีช่องว่างเหลืออยู่ สามารถเพิ่มตู้ควบคุมไฟฟ้าย่อยขึ้นมาได้

        3.ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) เพื่อใช้ตัดวงจร เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลเข้าออกไม่เท่ากัน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ในกรณีที่สายชาร์จไฟฟ้ามีระบบตัดไฟภายในตัวไม่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่ม ทั้งนี้เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีควรมีระบบตัดไฟอย่างน้อยเป็น RCD Type A โดยมีระบบตรวจจับ DC leakage protection 6 mA (การป้องกันกระแสไฟตรงรั่วไหล)                                               

        4.เปลี่ยนสายเมน และลูกเซอร์กิต (MCB) สำหรับสาย Main ที่ใช้ขนาด 16 ตารางมิลลิเมตร จะต้องปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 25 ตารางมิลลิเมตร และเปลี่ยนลูกเซอร์กิต (MCB) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับตู้ MDB ที่สามารถรองรับได้สูงสุด 100 A

        5.ทำเต้ารับ (EV Socket) ปลั๊กเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นชนิด 3 รู ต้องมีสายต่อลงดิน และต้องทนกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 A

        6.ความยาวของสายชาร์จที่เหมาะสม ควรมีระยะทางจากจากจุดติดตั้งเครื่องชาร์จถึงตัวรถไม่เกิน 5 เมตร โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 5-7 เมตรเท่านั้น และควรเลือกตำแหน่งวางเครื่องชาร์จที่มีหลังคาป้องกันละอองฝน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการกันน้ำของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้น ๆ ว่าจะสามารถกันน้ำได้หรือไม่

ที่มา
: การไฟฟ้านครหลวง


เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนีุุ้

อินชัวร์เฟรนด์โบรกเกอร์
Call : 063-636-5456  |  02-114-6464
Line ID: @insurefriend ( คลิก http://lineid.me/insurefriend )

 

My Instagram

Copyright © Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้".