เปิดนวัตกรรม “EV” ครบวงจรค่ายน้ำมันยักษ์ใหญ่ PTT - Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้"

เปิดนวัตกรรม “EV” ครบวงจรค่ายน้ำมันยักษ์ใหญ่ PTT


    กระแสตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าในทิศทางที่ดีท่ามกลางสภาวะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นอกจากจะเป็นสัญญาณด้านบวกของนักลงทุนด้านพลังงานทางเลือกแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญานถึงผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรายใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  “Ptt” ว่าจะวางแผนรับมือกับเทรนด์การใช้เชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปเป็นการใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนรถยนต์อย่างไร?

    หากใครติดตามข่าวสารของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ย่อมเห็นว่าผู้บริหารค่ายน้ำมันยักษ์ใหญ่รายนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ หากแต่มีการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบมาหลายปี โดยมีแนวคิดลงทุนทำสถานีชาร์จรถไฟฟ้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และมีการทำสถานีชาร์จในปีแรกประมาณ 4 แห่ง พร้อมทั้งมีแผนขยายเป็น 20 แห่งในปี พ.ศ. 2560 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “ปตท.” ได้เดินหน้ารุกธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ โดยแยกเป็น 2 ยุทธศาสตร์

    ยุทธศาสตร์แรกคือการลงทุนสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั้งในรูปแบบสถานีชาร์จแบบธรรมดา และสถานีควิกชาร์จสำหรับการชาร์จแบบด่วนๆ โดยปัจจุบันปตท.มีสถานีชาร์จธรรมดา 25 แห่ง สถานีควิกชาร์จ 61 แห่ง มีแผนขยายสถานณีชาร์จรถ EV 300 แห่งภายในปี 2565 และมีการตั้งเป้าหมายขยายเป็น 7,000 แห่ง ภายในปี 2573 ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) ร่วมกับ บริษัท อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ จำกัด หรือ EVLOMO เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของรถไฟฟ้า EV ในประเทศไทย สถานี EV Station PluZ เป็นเครื่องชาร์จประสิทธิภาพสูง สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ 2 ช่องทางไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน EV Station PluZ ของ โออาร์ และแพลตฟอร์มของ EVLOMO โดยการเชื่อมต่อระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้บริการมีคุณภาพแบบไร้รอยต่อ

    “ผู้ใช้รถ EV สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “EV Station PluZ” ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการในทุกมิติ ตั้งแต่การวางแผนเดินทาง พร้อมทั้งระบบนำทางไปสู่สถานีชาร์จตามแผนที่ โดยสามารถทำการจองล่วงหน้าเพื่อเข้าชาร์จ ชำระเงิน และการตรวจสอบประวัติการใช้งานได้ด้วยแอปพลิเคชันเดียว ที่รองรับการใช้งานบนระบบปฏิบัติการ iOS, Android และเว็บแอปพลิเคชัน https://evstation.pttor.com/ นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งข้อมูลสถานะของสถานีชาร์จแต่ละแห่ง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมเวลาการเข้าชาร์จได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการเปิดเกมรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เต็มรูปแบบ ด้วยการก่อตั้งบริษัทย่อย “อรุณพลัส” ขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดย ปตท. ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้าน เพื่อดำเนินธุรกิจ EV Value Chain รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตามวิสัยทัศ์ของ ปตท. “Powering Life with Future Energy and Beyond” เพื่อส่งเสริมและสร้าง EV Ecosystem ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศไทย  ซึ่ง “อรุณพลัส” ได้จับมือทั้งบริษัทในเครือ และพันธมิตรอื่น ๆ ดำเนินธุรกิจด้าน EV Value Chain รองรับการขยายฐานธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ในหลากหลายรูปแบบดังนี้

          1. จับมือกับ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.หรือฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ประกาศร่วมทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2564 ตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด และ บริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยบริการครบวงจร ทั้งการออกแบบ วางระบบการผลิต การบริหาร Supply chain และการให้บริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทย บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขต EEC ของไทย มีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 มีกำลังการผลิตที่ 50,000 คัน/ปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 นอกจากจะรับจ้างผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ OEM ให้กับแบรนด์อื่นๆ แล้ว ยังมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทยควบคู่ไปพร้อมกันด้วย

    ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรงงานผลิต EV ให้กับค่ายรถยนต์จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 3 ของปี 2565 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังได้มีการหารือถึงโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่ Foxconn มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในอุตสาหกรรม Smart Electronics และ Semiconductor รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิต EV

          2. ลงนามความร่วมมือกับ โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล (Hozon) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ที่เพิ่งมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Neta ครั้งแรกในงานมอเตอร์โชว์

          3. ร่วมทุนกับ โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่เป็นบริษัทในเครือของ ปตท.เอง ตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อเป็นผลิต ศึกษา วิจัย และดำเนินการการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่ ให้สามารถแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain) 

          4. จัดตั้งบริษัท อีวีมี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริม และสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศ โดย EVme คือบริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย ที่ให้บริการทั้งลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไป โดยมอบประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ใช้งานสามารถกำหนดรุ่นและเวลาเช่าได้เองตั้งแต่ระยะสั้นราย 3 วัน ไปจนถึงระยะราวเป็นรายปี  นอกจากนี้แอปพลิเคชัน EVme ยังให้บริการค้นหาข้อมูลตำแหน่งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) จากทุกแบรนด์ทั่วประเทศไทยได้ด้วย EVme เพียงแอปพลิเคชันเดียว

          การเคลื่อนตัวอย่างหนักแน่นและเป็นระบบควบคู่กับการวางจุดยืนเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ให้กับค่ายรถยนต์เป็นการเดินเกมรุกไปพร้อม ๆกับสร้างเครือข่ายพันธมิตรในทุกมิติ ทำให้เป็นที่จับตามองว่าในอนาคตอาจต้องให้คำนิยามของ บมจ.ปตท.ใหม่ ที่มิได้จำกัดบทบาทอยู่เพียงแค่ความเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีอย่างครบวงจรในฐานะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้

อินชัวร์เฟรนด์โบรกเกอร์
Call : 063-636-5456  |  02-114-6464
Line ID: @insurefriend ( คลิก http://lineid.me/insurefriend )




My Instagram

Copyright © Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้".