“ถ้าจะทำตลาดมอเตอร์ไซค์ ต้องทำให้สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” กันตินันท์ ตันวีนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สลีค อีวี จำกัด - Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้"

“ถ้าจะทำตลาดมอเตอร์ไซค์ ต้องทำให้สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” กันตินันท์ ตันวีนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สลีค อีวี จำกัด


        แต่ไหนแต่ไรมาและหลายคนคิดว่าอาจจะเป็นตลอดไปที่ตลาดมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทยจะยังคงมี “ฮอนด้า” ยึดครองส่วนแบ่งการตลาดที่สูงถึง 80-90% ของตลาดรวม

        หลายปีที่ผ่านมามีผู้เสนอตัวเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดมอเตอร์ไซค์จำนวนไม่น้อย แต่ก็ทำได้แค่แย่งชิงมาร์เก็ตแชร์ส่วนน้อยแค่ 10-20% ของตลาดมอเตอร์ไซค์รวมทั้งหมด

ถ้าวันนี้มีคนคิดที่จะเข้าไปแชร์ตลาดในส่วน 80% ของเจ้าตลาดอย่าง “ฮอนด้า” ล่ะ ?

        เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ และเป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด แต่ถึงแม้จะยากสักเพียงไร ก็มีคนคิดที่เข้าไปช่วงชิงตลาดส่วนนี้ ด้วยความคิดที่ว่าถ้าทำตลาดเล็กๆ เข้าไปชิงส่วนแบ่ง 10-20% มักไม่รอด

        ดังนั้น ถ้าจะทำตลาดมอเตอร์ไซค์ ต้องทำให้สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยวางเป้าหมายที่จะมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดมอเตอร์ไซด์รวม 60% ภายในปี 2030

        ลองมาสัมผัสมุมมองและความมุ่งมั่นของ กันตินันท์ ตันวีนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สลีค อีวี จำกัด ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ ผู้เลือกที่จะเปิดตัวเข้าสู่ตลาดด้วยการระดมทุนเข้าไปเทคโอเวอร์ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swag EV แล้วลอนซ์เป็นแบรนด์ใหม่ “Sleek EV” ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?


จุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้เข้าสู่ธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

        เริ่มต้นจากตอนเรียนปี 4 ด้านการเงิน ที่ ม.มหิดล ศาลายา ได้ทำงานที่ Union SPACE เอกมัย ซึ่งเป็น Co – Working Space ตอนนั้นต้องขับรถจากนครปฐมมาทำงานที่เอกมัย พอเรียนจบก็ได้ทำงานที่นั่นเต็มตัว การทำงานครั้งแรกเริ่มจากตำแหน่งแปลภาษา และได้พัฒนาตัวจนได้รับความไว้วางใจให้เป็น Country Director การได้ทำงานในตำแหน่งบริหารในบริษัทขนาดเล็ก ทำให้มีโอกาสได้ทำหลายๆ ด้าน ได้ทำทั้งด้านมาร์เก็ตติ้ง บัญชี ฯลฯ เหมือนถูกบังคับให้เรียนรู้ทุกๆ ด้านของการทำธุรกิจ

        ที่สำคัญของการทำงานที่นี่คือได้เห็น Eco System ของกลุ่มสตาร์ทอัพ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากออกมาทำสตาร์ทอัพของตัวเอง พอทำงานได้พักหนึ่ง มีบริษัทสนใจรีครูสให้เข้าไปเป็นพนักงานคนแรกของ Swag EV ผู้นำทางด้านการผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของสิงคโปร์ที่ต้องการขยายตลาดมาในประเทศไทย

ได้ประสบการณ์อะไรบ้างจากการเป็นพนักงานคนแรกของ Swag EV

        การเป็นพนักงานคนแรกของบริษัทฯค่อนข้างท้าทาย เหมือนต้องเริ่มต้นจากศูนย์ การทำงานเริ่มต้นจากการดำเนินการจดทะเบียนบริษัท ด้วยตัวเอง ตอนนั้นกรมพัฒนาธุรกิจคืออะไรยังไม่รู้จัก ความที่เป็นบริษัทสิงคโปร์ เราต้องทำให้ทุกอย่าง ตั้งแต่จดทะเบียน หาบัญชี หามาร์เก็ตติ้ง สร้างทีม ทำการตลาด นำเข้าสินค้า วิ่งเต้นประสานงานให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนได้ การทำงานแบบนี้ทำให้เราโตเร็วมากๆ เพราะมีโอกาสได้ทำครอบคลุมเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทั้งหมด

ตรงนี้คือจุดเปลี่ยน

        ถือเป็นจุดเปลี่ยนเหมือนกัน ที่เขาเลือกเรา คงเห็นทัศนคติต่าง ๆ เห็นการที่เราเป็นเมเนอร์เจอร์ ไดเร็คเตอร์ของ Union SPACE หลังจากทำงานที่ Swag EV อยู่ปีนึง เริ่มเห็นว่าวิชั่นของเรากับเจ้าของธุรกิจแตกต่างกัน วิธีในการทำธุรกิจแตกต่างกัน เลยลาออก แต่ก็ยังมี passion ด้านสตาร์ทอัพอยู่ เพราะรู้วิธีว่าการระดมทุนเป็นยังไง ก็เลยระดมทุน หาพาร์ทเนอร์ และนักลงทุนจากสิงคโปร์ ระดมทุนเองทั้งหมด ได้ทุนเริ่มต้นกิจการที่ 400,000 USD คิดเป็นเงินไทยตอนนั้นประมาณ 12 ล้านบาท

        เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองครั้งแรก ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง เปิดร้านขายที่ภูเก็ต ต่อมาขยายสาขาไปขอนแก่น และกรุงเทพฯ ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างช้า...นั่นคือตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ทำให้คิดว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจไปได้ไกลกว่านั้น เลยหันมาทำไฟแนนซ์ ปล่อยให้เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ไม่ต้องขายเอง คือไปหาดีลเลอร์ และจัดไฟแนนซ์ให้

ผลตอบรับเป็นอย่างไร

        ทำไปทำมา มีปัญหาเรื่องของโพรดักส์ ควอลิตี้ของโพรดักส์มีผลกระทบต่อพอร์ตโฟลิโอพอสมควร ถ้าโพรดักส์คุณภาพไม่ถึง ลูกค้ามักไม่ผ่อนค่างวดต่อ พอร์ตก็พัง จุดนี้ทำให้ได้รู้ว่าตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขาดแคลนโพรดักส์ที่ดีมีคุณภาพ ทำให้มองเห็นโอกาสและกลับไปเจรจากับผู้บริหาร Swag EV ขอซื้อกิจการมาดูแลต่อ เลยเป็นที่มาของการซื้อ Swag EV ที่ผมเคยเป็นพนักงานคนแรก ลาออกมา แล้วกลับไปซื้อกิจการ จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Sleek EV

ซื้อ Swag EV ในราคาเท่าไหร่?

        ไม่อยากเปิดเผยตัวเลข แต่มีการสว๊อปหุ้น คือเป็นไฟแนนท์เชียล เอนจิเนียร์ริ่ง มีที่จ่ายเป็นเงินสด มีการแลกซื้อสินค้าบ้าง ทำหลายๆ อย่างแล้วเปลี่ยนชื่อ ที่เปลี่ยนชื่อเพราะรู้สึกว่าแบรนด์ Swag EV มันโต Global ไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องเครื่องหมายการค้าที่เยอรมัน ด้วยความต้องการพยายามให้ธุรกิจโกอินเตอร์ให้ได้ เลยเปลี่ยนให้เป็นชื่อที่ไม่ติดปัญหาเรื่องเทรดมาร์ค นี่คือที่มาของ Sleek EV

Sleek ที่แปลว่า โฉบเฉี่ยว

        ใช่ อยากให้ชื่อติดหู วัยรุ่นเข้าถึงง่าย จริงๆ กลุ่มเป้าหมายคือทุกคน แต่ก็อยากให้มันเป็นชื่อแบบไม่  Masculine หรือ Feminine จนเกินไป ไม่อยากให้เป็นแมนจ๋า หรือผู้หญิงจ๋าจนเกินไป ผมอยากให้คนพูดถึง Sleek ไม่ใช่แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แต่อยากให้เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์มากกว่า

เริ่มรันกิจการ Sleek EV เมื่อไหร่

        จริงๆ Sleek เพิ่งจดทะเบียนประมาณปลายปีที่แล้ว ประมาณปลายๆ เดือนธันวาคม 2564 -มกราคม 2565 รวมระยะเวลาก็ 11 เดือน นับว่าค่อนข้างเร็ว สำหรับการทำให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสามารถจดทะเบียน และวิ่งบนถนนเมืองไทยได้สำเร็จ ซึ่งผ่านปัญหาเยอะมาก กว่ากฎหมายในประเทศไทยจะรองรับ รวมทั้งการทำมาร์เก็ตติ้ง ทำแบรนด์ดิ้ง การขยายดีลเลอร์เน็ตเวิร์ก ถือว่าค่อนข้างเร็วมากๆ เป็นที่น่าพอใจ ทุกอย่างทำเองทั้งหมดร่วมกับทีมงาน

ตอนนี้ถือว่ากิจการเดินหน้าได้เต็มที่

        ปัจจุบันแบงก์กรุงศรีออโต้ รองรับแล้ว มีบริษัทประกันอย่างไทยวิวัฒน์ประกันภัยรองรับ อยู่ในเกรดที่ท็อปสเกล และกรุงศรีออโต้ก็จัดไฟแนนซ์ให้แล้ว เรทดอกเบี้ยค่อนข้างดี ถือว่าต่ำสุดในตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน แบรนด์อื่นดอกเบื้ย 1.7-2% กว่าๆ  ต่อเดือน ของเราดอกเบี้ยเริ่มต้นแต่ 1.0 % กว่า ๆ ต่อเดือน ที่ได้รับการยอมรับคงเพราะว่าเขาค่อนข้างมั่นใจในแบรนด์ Sleek EV พอสมควร

มีประสบการณ์ทำ Swag EV มาก่อน พอมาทำ Sleek EV ได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน แล้วนำมาแก้ไข

        สิ่งที่เราเห็นไม่ตรงกับเจ้าของ Swag EV คือบิซซิเนสโมเดล เรื่องของการขายให้ถึงมือลูกค้า ส่วนตัวผมมองว่าตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าประเทศไทยมักขายตรงให้กับลูกค้า ทำให้แบรนด์พีกอัพช้า การขายเองทีละคันสองคัน ทำให้ยอดโตค่อนข้างช้า สิ่งที่ผมมองว่าจำเป็นคือดีลเลอร์ เมื่อทำตลาดเองก็เลยขายผ่านดีลเลอร์ล้วนๆ  ไม่ขายเองเด็ดขาด คือให้ชัดเจนไปเลย ก่อนหน้านี้ Swag EV ขายเอง และขายดีลเลอร์ด้วย มันเกิดการแคลสกันของบิซซิเนสโมเดล การทำโปรโมชั่นก็จะชนกัน ตรงนี้เราเคลียร์กันว่าจะขายผ่านดีลเลอร์เท่านั้น ดีลเลอร์ทุกคนแฮปปี้ การทำธุรกิจต้องทำให้ได้ดีทุกคน ถ้าเรามุ่งจะทำกำไรมากๆ  มักไม่ยั่งยืน

ตอนนี้มีดีลเลอร์กี่ราย

        มี 22 ราย เป็นดีลเลอร์ในสายออโตโมทีฟอยู่แล้ว คือจะเน้นดีลเลอร์ท็อปๆ ในแต่ละจังหวัด เราจะเลือกดีเลอร์ที่แข็งในเรื่องของเซอร์วิส และในเรื่องของอาฟเตอร์เซลล์เซอร์วิส เรื่องบริการหลังการขาย ที่อยู่ในสายยานยนต์

ตรงนี้คือจุดแตกต่างจากมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายอื่น

        แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายอื่นอาจเปิดดีลเลอร์เยอะ บางแบรนด์มีดีลเลอร์ 100-200 สาขา แต่อาจจะเป็นดีลเลอร์ที่ยังไม่เชี่ยวชาญ อาจจะเพิ่งเข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้มักมีปัญหาในเรื่องของอาฟเตอร์เซลล์เซอร์วิส ซึ่งผมมองว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไม่ใช่โทรศัพท์ ยานยนต์ถ้าผิดพลาด มันคือชีวิต เราต้องเลือกดีลเลอร์ที่สามารถอาฟเตอร์เซลล์ได้ดี ได้แข็ง เจ้าอื่นจะขายง่ายๆ ใครจะขายก็ได้ ไม่มีการทำออดิท ถามว่าเค้าเซอร์วิสถึงหรือเปล่า การเงินถึงหรือเปล่า การเปิดกว้างอย่างนั้นกิจการอาจจะโตเร็วก็จริง แต่ว่าระยะยาวยั่งยืนหรือเปล่า ผมไม่รู้

จากที่เห็นปัญหาตรงนั้น เมื่อมาทำดีลเลอร์เอง ผลตอบรับเป็นยังไง
        ผลตอบรับถือว่าดี ตอนนี้ดีมานด์เยอะกว่าซัพพลาย เราแอบผลิตไม่ทัน ไม่ใช่ว่ามีกำลังผลิตน้อย แต่ว่าหลักๆ แล้วเราค่อนข้างเน้นในเรื่องควอลิตี้มากๆ ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ไม่มีทางที่ไม่มีข้อผิดพลาดอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ปล่อย มีดีเฟ็คนิดหน่อย เราไม่ปล่อย ค่อนข้างเข้มงวดมาก ก็เลยมีโปรดักส์พร้อม 100% ถึงมือดีลเลอร์มีจำนวนน้อยมากๆ ตรงนี้เป็นปัญหาที่กำลังแก้ไขในปัจจุบัน

ตอนนี้ตั้งโรงงานแล้ว

        ตั้งโรงงานแล้วที่สมุทรสาคร จริงๆ โรงงานลงทุนไม่เยอะ เพราะไม่ได้ซื้อพื้นที่ แค่เช่าโรงงานที่มีไอเอสโออยู่แล้ว ไปตั้งไลน์ผลิต และประกอบเอง การประกอบรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ไม่ยาก ชิ้นส่วนหลักๆมีแค่ 150 ชิ้น ตอนนี้เริ่มประกอบเอง รถมอเตอร์ไซค์ที่เห็นจำหน่ายในประเทศไทยคือประกอบเองหมดแล้ว

ได้บีโอไอหรือยัง
        ไม่ได้ทำบีโอไอ แต่มีแผนจะทำบีโอไอเร็วๆ นี้ มีแพลนว่าเราจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่สิงคโปร์ หรือไม่ก็นิวยอร์ค หรือแนสแด็ก ทำให้ต้องทำบีโอไอ

กำลังผลิตตอนนี้เท่าไหร่

        ถ้าเต็มกำลังของโอเปอเรชั่นก็ 100 คันต่อวัน ตอนนี้มีปัญหาซัพพลายสินค้าจากจีน ของมาไม่ทัน อย่างเดือนนี้คงประกอบได้แค่ 200 คัน

ตอนนี้ยอดผลิตเท่าไหร่ ยอดขายเท่าไหร่

        เราเพิ่งเปิดขายมาได้ประมาณเดือนนึง ขายผ่านดีลเลอร์ได้ประมาณ 300 คัน ติดขั้นตอน complicate ในไทย ต้องใช้เวลาสิบกว่าเดือน กว่ามอเตอร์ไซค์จะขายได้ก็ล่วงเลยมาถึงเดือนตุลาคม ถือว่าเสียเวลาค่อนข้างมาก

สิ้นปีนี้ตั้งเป้าเท่าไหร่

        จริงๆ สิ้นปีนี้เราตั้งเป้าไว้ 2 พันคัน แต่ว่าไม่น่าจะทัน นี่เหลือแค่เดือนกว่าๆ เจอปัญหาเยอะมาก ผลิตไม่ทัน สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเจออย่างเรื่องดีเฟ็ค เรื่องปัญหาโปรดักส์ ปีนี้เป็นปีแรก ต้องเจอปัญหาอยู่แล้ว

ยอดจองมีประมาณเท่าไหร่

        800 คัน เป็นยอดรวมทั้ง 3 รุ่น

รุ่นไหนได้รับความนิยมสูงสุด

        แรกๆ ตั้งเป้าว่ารุ่นใหญ่จะได้รับความนิยมสูงกว่า แต่ไปๆ มาๆ เหมือนรุ่นเล็กจะพิคอัพได้ดีกว่า ดีมานด์ของรุ่นเล็กเยอะกว่า ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ คนอยากจะลองรถอีวี แต่ไม่อยากทดลองมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันละ 1-2 แสน อยากจะลองระดับ 5-6 หมื่นก่อน ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนในปีหน้าเหมือนกัน ต้องทำโมเดลเล็ก แล้วค่อยๆ โต ค่อยๆ เพิ่มรุ่นที่สเปคสูงขึ้น

อะไรคือจุดเด่นของ Sleek EV

        เป็นในเรื่องของควอลิตี้ เรื่องคุณภาพ ของที่เราเลือกใช้ค่อนข้างพรีเมียม เช่นตัวขับเคลื่อนก็จะเป็น Bosch เยอรมัน ปีหน้าจะเป็น Bosch ที่ผลิตในไทย ตัวเซลล์แบตเตอรี่ เราใช้ของแอลจี แบตเตอรี่เรามีเซอติฟิเขต แบตเตอรี เราเป็นลิเทียม แมงกานิส ของเกาหลี ไว้ใจได้ในคุณภาพแน่นอน เราเน้นควอลิตี้ และการคิวซี  ณ ปัจจุบัน เราได้ฟีดแบ็คออกมาดีว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับญี่ปุ่น

มีประกันอะไรที่แตกต่างจากแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายอื่นในตอนนี้

        ถ้าเทียบกับมอเตอร์ไซค์อีวีในตลาดตอนนี้ การรับประกันค่อนข้างจะไม่ชัดเจน อาจจะให้มอเตอร์ 3 ปี แบตฯ 2 ปี ในส่วนรถ 1 ปี แต่ของเราให้ประกันระดับเดียวกับมอเตอร์ไซค์น้ำมัน ประกัน 15,000 กม. ฟรีเซอร์วิส มีการเช็กระยะที่ชัดเจน อย่างแบรนด์มอเตอร์ไซค์อีวีอื่น มักมีช่องโหว่ค่อนข้างเยอะ ไม่มีการเช็กระยะ ผู้ใช้ใหม่ก็ใช้ไป ด้วยความไม่เช็กระยะ แล้วไปเติม ไปโมฯ อะไรเพิ่ม อันตรายมากๆ

แบตเตอรีมีจุดเด่นอะไร

        แบตเตอรี่ในตลาดหลายๆ รายในตอนนี้มีน้ำหนักสิบกว่ากิโลฯ ขึ้นไป ของเราหนักประมาณ 11 ก.ก. แต่ปีหน้าจะเปลี่ยนเป็น 7 โล ลดน้ำหนักลง และเป็นแบบ 2 ลูกเล็กๆ ไซด์ประมาณขวดน้ำ เราคิดว่าต้องทำอะไรให้ยูสเซอร์รู้สึกเฟรนด์ลี่ที่สุด ดีสุด ตรงนี้เป็นสิ่งที่ยูสเซอร์จะเลือกใช้เรา

ปีหน้ามีแพลนจะมีโชว์รูมกี่แห่ง

        ตั้งเป้าไว้ปีหน้าจะมี 70 สาขาทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯจะมีประมาณ 7 สาขา ที่ตั้งเป้าไว้ไม่ได้หยุดแค่ 70 ก็คงต้องโตไปเรื่อยๆ

การจับมือกับโออาร์ในการศึกษาจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี่มีความคืบหน้าอย่างไร

        ตอนนี้เริ่มเทสต์ตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ S Pods แล้ว คาดว่าจะสามารถติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่พร้อม ๆ กัน 225 จุดทั่วกรุงเทพฯ ภายในปี 2023

ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะมีเข้ามาอีกหลายแบรนด์ Sleek EV มีเป้าหมายทางการตลาดอย่างไร

        ต่อไปจะมีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหลายแบรนด์แน่นอน ต้องมีคนมาโยนเงินให้กับตลาดนี้ ทุกคนอยากมาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด เพราะตลาดนี้ใหญ่มาก สำหรับ Sleek EV ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี 2030 อยากมีมาร์เก็ตแชร์ 60% ขึ้นไป ไม่ใช่เป็นมาร์เก็ตแชร์แค่อีวี แต่เป็นมาร์เก็ตแชร์ของมอเตอร์ไซค์รวมทั้งตลาด

ยอดขายมอเตอร์ไซค์ในไทยสูงถึงปีละเกือบ 2 ล้านคันเลยนะ

        ใช่ครับ 1.8 ถึง 2  ล้านคัน

อะไรทำให้มั่นใจว่าจะไปถึงจุดนั้น

        ต้องบอกว่าเล็กไม่รอด ถ้าทำมันต้องสุด อย่างตอนนี้เจ้าตลาดมีมาร์เก็ตแชร์ 80-90% สมมติถ้าคุณเล็ก คุณคือ 1 ใน 100 แบรนด์ที่สู้ในมาร์เก็ตแชร์ 10-20% มันไม่พอ ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนอย่างยั่งยืนจริง ๆ ต้องไปให้สุด

มีคนพร้อมจะลงทุนตรงนี้อยู่แล้ว

        การระดมทุนให้เป็นเฟสๆ ไปดีกว่า เพียงแต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ติดขัดในเรื่องของการระดมทุน ถ้าบิสสิเนสเราดี มีความยั่งยืน เชื่อว่าเงินทุนเป็นสิ่งที่ไม่ได้หายาก

ข้อมูลประกอบ

รายละเอียด SLEEK EV ที่มีจำหนายในไทย

        ปัจจุบัน SLEEK EV มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน แบ่งเป็น Segment Home Scooter อย่าง TYPE-S และ SLEEK One และ Segment Urban Scooter อย่าง TYPE-V Series โดย TYPE-V มาพร้อมขุมพลังมอเตอร์ 3,000 วัตต์ พร้อมจุแบตเตอรี่ Lithium NMC ขนาด 60V 70Ah ทำความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะเดียวกัน TYPE-V GT ก็ถูกออกแบบมาเอาใจนักเดินทางด้วยระบบ Mid-Drive Motor 4,000 วัตต์ พร้อมจอแสดงผลแบบ Full Digital Display ที่รวบรวมข้อมูลสำคัญของการเดินทางไว้บนหน้าจอเดียว ในราคา TYPE-V 129,000 บาท และราคา TYPE-V GT 149,000 บาท


เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้

อินชัวร์เฟรนด์โบรกเกอร์
Call : 063-636-5456  |  02-114-6464
Line ID: @insurefriend ( คลิก http://lineid.me/insurefriend )

 

 

My Instagram

Copyright © Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้".