Home new “แบตเตอรี่” ปัจจัยหลักก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
“แบตเตอรี่” ปัจจัยหลักก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
Admin 8.8.65 0
รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้ใช้รถมากขึ้น ทว่ายอดออกรถและจดทะเบียนยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากโจทย์ใหญ่ที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องตีให้แตกคือต้องมีสมรรถนะในการขับขี่ และความสะดวกสบายในการเติมเชื้อเพลิงทัดเทียมกับรถยนต์สันดาปภายในที่มีสถานีบริการน้ำมันครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ และการเติมน้ำมันแต่ละครั้งวิ่งได้ระยะทางไกลหลายหลายร้อยกิโลเมตร
ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีมานานพอสมควร แต่ส่วนใหญ่ยังวิ่งได้ไม่ไกลเท่ารถที่เติมน้ำมันเต็มถัง ซึ่งการจะวิ่งได้ระทางไกลแค่ไหนขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ว่าจะสามารถเก็บกักพลังงานได้นานแค่ไหนต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง อีกทั้งการชาร์จไม่ควรใช้เวลานานจนเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน
“ความจุแบตเตอรี่คือหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า” ถ้าหากสามารถพัฒนาให้มีขนาดกะทัดรัด สามารถเก็บกักพลังงานได้มากย่อมสามารถแข่งขันกับรถยนต์สันดาปภายในได้ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้สักคัน ควรศึกษาดูประเภทของแบตเตอรี่ของรถคันนั้นว่าเป็นชนิดไหน มีประสิทธิภาพอย่างไร ใช้งานได้กี่กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และที่ไม่ควรละเลยก็คือต้องมีความปลอดภัยสูงด้วย
ปัจจุบัน แบตเตอรี่ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในรถยนต์ไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium-ion) ซึ่งสามารถจำแนกออกได้อีกหลายประเภทขึ้นอยู่กับขั้วของแบตเตอรี่ ได้แก่ Lithium-Nickel-Cobalt-Aluminum (NCA) , Lithium-Nickel-Manganese-Aluminum (NMC) , Lithium-Manganese Spinel (LMO) Lithium Titanate (LTO) , Lithium-Iron Phosphate (LFP)
และที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Lithium-Cobalt Oxide (LCO) สาเหตุที่นิยมใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้มาก เนื่องจากเป็นแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่ทุกชนิดจะมีระบบติดตามการทำงาน ระบบการควบคุมความร้อน เพื่อให้แบตเตอรี่เหล่านั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในเมื่อแบตเตอรี่คือปัจจัยหลักที่ผู้สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก และควรศึกษาดูแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าที่สนใจว่ามีการระบุสมรรถนะที่บ่งบอกถึงความสามารถในการทำงาน ความจุของแบตเตอรี่ อายุการใช้งาน ฯลฯ อย่างรอบคอบ
1.ต้องดูความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการใช้แบตเตอรี่ เนื่องจากแบตเตอรี่มีปฏิกิริยาระหว่างสารเคมี สามารถถ่ายเทความร้อนออกมาได้ หากแบตเตอรี่เหล่านั้นขาดเทคโนโลยีความปลอดภัย ทำให้มีการถ่ายเทความร้อนออกมาในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ วัสดุที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ที่เสี่ยงต่อการถ่ายเทความร้อนในปริมาณมากได้แก่ Lithium-Nickel-Cobalt-Aluminum (NCA) , Lithium-Nickel-Manganese-Aluminum (NMC) และ Lithium-Manganese-Spinel (LMO)
2.อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ที่ดีต้องมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถชาร์จซ้ำได้หลายครั้ง การวัดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่จะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ รอบการใช้งาน และอายุโดยรวม รอบการใช้งานจะหมายถึงจำนวนครั้งที่ชาร์จแบตเตอรี่จนเต็มและใช้จนลดลงเหลือ 80% ของแบตเตอรี่ขณะชาร์จเต็ม ส่วนอายุการใช้งานโดยรวมจะหมายถึงจำนวนปีที่สามารถใช้งานแบตเตอรี่นี้ได้อยู่ ปัจจุบันยังไม่มีหลักอธิบายที่แน่ชัดว่าตัวแปรใดที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพโดยเร็ว โดยทั่วไปอุตสาหกรรมยานยนต์จะออกแบบแบตเตอรี่มาให้มีอายุการใช้งาน 8-10 ปี
3.ราคาของแบตเตอรี่ ต้องเหมาะสมต่อสภาพการใช้งาน และเหมาะสมต่อผู้ใช้งานด้วย ในอนาคตราคาจะถูกลงเนื่องจากราคาของวัสดุที่มีแนวโน้มต่ำลง ผู้ประกอบการมีความสามารถและประสบการณ์ในการพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้นและราคาลดลง
4.ความสามารถในการทำงานของแบตเตอรี่ เนื่องจากรถยนต์ในหลายประเทศทั่วโลกต้องทำงานในสภาพอากาศที่แตกต่างกัน บางประเทศหนาวจนมีหิมะ บางประเทศร้อนจัด อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นจะส่งผลต่อสมรรถนะของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ที่ดีจะต้องออกแบบมาให้สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำมาก ๆ
5. ความสามารถในการจุพลังงานต่อกิโลกรัมน้ำหนักของแบตเตอรี่ ในปัจจุบันแบตเตอรี่มีพลังงานจำเพาะอยู่ในช่วง 80–120 Wh/kg และสามารถพัฒนาให้มีค่าสูงได้ถึง 200 Wh/kg ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
6. ปริมาณของกำลังที่แบตเตอรี่สามารถจ่ายให้กับรถต่อน้ำหนักของแบตเตอรี่ กำลังจำเพาะจะมีความสำคัญเล็กน้อยกับรถยนต์ไฮบริด ซึ่งจ่ายไฟฟ้าปริมาณน้อย ๆ ในเวลารวดเร็ว ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า 100% พลังงานจำเพาะจะมีความจำเป็นมากกว่า
ปัยจัยต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถยนต์ควรนำมาเป็นหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดนั่นเอง
เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้
อินชัวร์เฟรนด์โบรกเกอร์
Call : 063-636-5456 | 02-114-6464
Line ID: @insurefriend ( คลิก http://lineid.me/insurefriend )