เรื่องน่ารู้ ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risks Insurance) - Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้"

เรื่องน่ารู้ ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risks Insurance)



เรื่องน่ารู้ ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risks Insurance)

ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินได้กำหนดใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกบริษัท โดยได้แปลมาจากกรมธรรม์ประกันภัย Accidental Damage (property) Insurance (ABI FORM ) โดยได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขบางประเด็นที่เห็นว่าควรปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามหลักกฎหมายในประเทศไทย และเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัยเพิ่มมากขึ้น กรมธรรม์ประกันภัยนี้ใช้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่เห็นว่าการทำประกันอัคคีภัยซึ่งเป็นความคุ้มครองแบบระบุภัยยังไม่เพียงพอกับความเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของตนได้

ความคุ้มครอง

การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยตามมูลค่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ เวลาที่เกิดการสูญเสีย ความสูญเสียหรือความเสียหาย หรือตามจำนวนที่เสียหายจริง หรือทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนให้ใหม่สำหรับการสูญหาย หรือความเสียหายทางกายภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยอุบัติภัยใด ๆ ที่มิได้ระยุยกเว้นไว้ ซึ่งเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเอาประกันภัย

จากความคุ้มครองที่กำหนดไว้ แยกการสูญหายหรือความเสียหายของทรัพย์สินออกเป็น 3 ประเด็นคือ

  1. ต้องเป็นความเสียหายทางกายภาพ (Physical loss or damage)

  2. ต้องเป็นอุบัติภัย (Accidental) ที่มิได้ระยะยกเว้นไว้ในข้อยกเว้น

  3. ต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาประกันภัย

    

ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

  • ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ต้องระบุจำนวนเงินเอาประกันภัยแยกไว้ตามรายการแต่ละรายการ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมที่ระบุในตารางกรมธรรม์

  • ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้แก่ อาคาร เครื่องจักร สต๊อกสินค้าหรือวัตถุดิบ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น

  • การกำหนดความรับผิดส่วนแรก (Deductible)

เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินจะให้ความคุ้มครองกว้าง ดังนั้น โอกาสในการเรียกร้องค่าสินไหมย่อมมีมากตามไปด้วย บริษัทประกันภัยจึงมีการกำหนดให้มี “ความรับผิดส่วนแรก” กล่าวคือ ให้ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบในจำนวนเงินส่วนแรกของค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น และบริษัทรับผิดชอบในส่วนที่เกินจากการรับผิดส่วนแรกของผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยเพิ่มความระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งการกำหนดความรับผิดส่วนแรกย่อมมีผลให้อัตราเบี้ยประกันภัยลดลง


สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

เนื่องจากความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยนี้มีความคุ้มครองลักษณะกว้างดังนั้นผู้เอาประกันภัยจึงควรศึกษา “ข้อยกเว้นที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย” ให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการรักษาสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

  1. ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    1. ความผิดพลาดหรือความบกพร่องในการออกแบบ การใช้วัสดุ หรือฝีมือแรงงาน

    2. การเสื่อมสภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

    3. การหยุดชะงักของระบบการจ่ายน้ำ ก๊าซ กระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิง ระบบการกำจัดของเสีย

    4. การพังทลายหรือการแตกร้าวของอาคาร

    5. การกัดกร่อนหรือการผุกร่อน สนิม การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความชื้น ความแห้ง การบูดเน่าขึ้นรา หดตัว ระเหย สูญเสียน้ำหนัก มลภาวะ การปนเปื้อน การเปลี่ยนสี รส กลิ่น การกัดแทะของแมลงหรือสัตว์

    6. การลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังอย่างรุนแรงทำให้เกิดร่องรอยความเสียหายต่อตัวอาคาร

    7. การฉ้อโกงหรือไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้เอาประกันภัย

    8. การสูญเสีย หรือการขาดหายโดยไม่ทราบสาเหตุซึ่งพบเมื่อตรวจสอบ

    9. การร้าว แตก ยุบแฟบ ของหม้อกำเนินไอน้ำ ถังอัดความดัน

    10. การชำรุดเสียหายหรือขัดข้องของระบบกลไกหรือระบบไฟฟ้าของเครื่องจักร

    11. การเอ่อล้น การปล่อย การรั่ว การแตกของถังเก็บน้ำ หรืออุปกรณ์ หรือท่อในขณะที่สถานที่นั้นถูกทิ้งร้างไม่ใช้งาน

    12. การพังทลาย การเซาะของชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำลำคลอง

    13. การยุบตัว การโก่งตัว หรือการเคลื่อนตัวของพื้นดิน

    14. การทรุดตัวตามปกติของสิ่งปลูกสร้าง

    15. ลม ฝน ลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง หิมะ น้ำท่วม ทรายหรือฝุ่น ซึ่งทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่อยู่กลางแจ้งหรือเก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรือต่อรั้ง ประตูรั้ว

    16. การแข็งตัวจากความเย็น หรือการแข็งตัว หรือการรั่วไหลของวัตถุหลอมละลาย

  2. ความเสียหายอันมีสาเหตุมาจาก

    1. การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย

    2. การหยุดทำงาน การล่าช้า การสูญเสียตลาด หรือความเสียหายต่อเนื่อง

  3. ความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมจากเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้

    1. สงคราม การรุกราน การกระทำของศัตรูต่างชาติ การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม สงครามการเมือง

    2. การก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล การกบฏ การปฏิวัติ การยึดอำนาจ การปกครองโดยทหาร

    3. การก่อการร้าย โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการผู้ก่อการร้ายเพื่อผลทางการเมืองและสร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณชน ข้อยกเว้นนี้ ไม่ใช้บังคับกรณีความเสียหายอันเกิดจากอัคคีภัย

    4. การสูญเสียการครอบครองเนื่องจากการถูกยึดทรัพย์ การโอนทรัพย์สินเป็นขอรัฐ การเวนคืนการเรียกเอาโดยคำสั่งโดยชอบตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่

    5. การสูญเสียการครอบครองอาคารจากการเข้าครอบครองที่มีชอบด้วยกฎหมาย

    6. การทำลายทรัพย์สินโดยคำสั่งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมาย

  4. ความเสียหายอันสืบเนืองจาก

    1. อาวุธนิวเคลียร์

    2. ปฏิกิริยานิวเคลียร์ กัมมันตภาพรังสี การตกตัวของประจุ การแผ่รังสี

  5. การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้

    1. เงินตรา เช็ค แสตมป์ พันธบัตร บัตรเครดิต หลักทรัพย์ เพชรพลอย อัญมณี โลหะมีค่า ทอง ขนสัตว์ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุหายาก เว้นแต่ระบุไว้ให้คุ้มครอง

    2. กระจก หรือกระจกที่ติดตั้งถาวร

    3. เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เครื่องเคลือบดินเผา หินอ่อน หรือวัตถุอื่นที่เปราะหรือแตกง่าย

    4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลข้อยกเว้น 1-4 จะไม่นำมาบังคับสำหรับความเสียหายอันเกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด อากาศยาน จลาจล นัดหยุดงาน การกระทำด้วยเจตนาร้าย ภัยยานพาหนะหรือสัตว์ ภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม ภัยเนื่องจากน้ำ

    5. ทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของผู้เอาประกันภัย

    6. ยานพาหนะที่จดทะเบียนสำหรับใช้บนถนน

    7. ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการขนส่ง ซึ่งมิใช่เป็นการเคลื่อนย้ายภายในสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ระบุในตารางกรมธรรม์ฯ

    8. ทรัพย์สินหือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในระหว่างการรื้อถอน การก่อสร้างหรือการติดตั้งรวมทั้งวัตถุหรือวัสดุที่เกี่ยวข้องนั้น

    9. ที่ดิน ทางสัญจร ทางเท้า ถนน ลานบิน รางรถไฟ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ คลอง บ่อน้ำ ท่อส่ง อุโมงค์ สะพาน อู่เรือ ท่าจอดเรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในเหมือง ใต้ดิน หรืออยู่นอกชายฝั่ง

    10. ปศุสัตว์ พืชไร่ หรือต้นไม้

    11. ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการผลิต

    12. เครื่องจักรในระหว่างการติดตั้ง การเคลื่อนย้าย หรือการเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้ง

    13. ทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซ่อมแซม ทดลอง การติดตั้งซ่อมบำรุงแต่ยังคงคุ้มครองต่อความเสียหายตามมาหากความเสียหายนั้นเกิดจากภัยที่ได้รับความคุ้มครอง

    14. ทรัพย์สินที่ได้มีการเอาประกันภัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

    15. ทรัพย์สินที่เสียหายที่สามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ฯ ทางทะเลและขนส่ง เว้นแต่ความเสียหายส่วนเกินซึ่งไม่ได้รับจากกรมธรรม์ฯ ทางทะเลและขนส่ง

    16. ความเสียหายของหม้อกำเนิดไอน้ำ อุปกรณ์หรือท่อประหยัดเชื้อเพลิง กังหันไอน้ำ เครื่องจักรอุปกรณ์ อันเกิดจากการระเบิด หรือแตกร้าวของตัวเอง


สนใจทำประกัน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยได้ที่ 

📞โทร : 02-114-6464, 094-964-5464

หรือ Line : @insurefriend และwebsite : https://www.insurefriend.co.th




ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)


My Instagram

Copyright © Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้".