สัมภาษณ์พิเศษ มารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR - Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้"

สัมภาษณ์พิเศษ มารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR

ในวันที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ธุรกิจสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เต็มรูปแบบ

        เอเอ็มอาร์ เอเชีย “AMR” มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนานวัตกรรมและการออกแบบทางวิศวกรรม (System Integrator) ในประเทศไทย มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจหลายด้าน และมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับโครงการต่างๆ ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจมานานกว่า 20 ปี

        AMR” เติบโตอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารงานของ มารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR ที่มีวิสัยทัศน์ว่า เทคโนโลยีที่ถือกำเนิดขึ้นคือสิ่งที่จะกำหนดชีวิตและอนาคต จึงมุ่งมั่นบริหารกิจการให้เติบโตอย่างต่อเนื่องทางด้านเทคโนโลยีมาโดยตลอด

        แน่นอนว่าหากพิจารณาถึงผลงานที่ผ่านจะพบว่าหัวใจสำคัญของความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนผ่านโมเดลธุรกิจการบริหารจัดการข้อมูล หรือรูปแบบการให้บริการเข้าสู่ยุคดิจิตอล

        ดังนั้นเมื่อมีกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ “มารุต” ให้ความสนใจ และเข้าไปมีส่วนรวมพัฒนาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รายแรกๆ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และมีการเปิดตัวสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จักรยานยนต์ไฟฟ้าในโครงการนําร่องการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะในพื้นที่อําเภอบางกรวย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560

        จากวันนั้นถึงวันนี้ “มารุต” มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนให้ “AMR” นำศักยภาพที่มีอยู่มาพัฒนาธุรกิจสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้มีความเป็นออโตเมติกที่มาพร้อมแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการใช้บริหารจัดการข้อมูลการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ แบบครบวงจร ภายใต้แบรนด์ “มาชาร์จ” หรือ “MaCharge

        ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการขับเคลื่อนธุรกิจสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ครั้งนี้มิได้จำกัดอยู่แค่การวิจัยและพัฒนาให้หน่วยงานต่างๆ เฉกเช่นที่ผ่านมา หากแต่เป็นการร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำการตลาดแบบบีทูบี และบีทูซี นั่นย่อมหมายถึงการรุกเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคที่ต้องมีการทำการตลาดแบบครบวงจร

        นับจากนี้เป็นต้นไปทุกก้าวย่างของ “AMR” ภายใต้การบริหารงานของ มารุต ศิริโก จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง...

จุดเริ่มต้นของการขยายฐานลงทุนรุกสู่ธุรกิจสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

        ธุรกิจหลักของเอเอ็มอาร์ เอเชียคือการพัฒนานวัตกรรมและการออกแบบระบบทางวิศวกรรม (System Integrator) ในประเทศไทย มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจในด้านต่าง ๆ หลายด้าน และมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับโครงการต่างๆ ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจมานาน มีวันนึงมีลูกค้าเข้ามาหาเรา และถามว่าอยากจะมีตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ทำงานแบบออโตเมติก เขาอยากได้แบบนี้ แต่ไม่มีคนทำให้ ก็เข้ามาถามเราว่าทำให้ได้หรือเปล่า เพราะตู้สับเปลี่ยนแบตฯที่ใช้กันอยู่ตอนนั้นเป็นเหมือนตู้ล็อกเกอร์เก็บของธรรมดา ผู้ใช้งานต้องดึงให้เปิดและปิดเอง


ตรงนี้คือการเริ่มต้นพัฒนาจนกลายเป็นสถานีสับแบตเตอรี่มาชาร์จ

        ตอนนั้นตัดสินใจพัฒนาตู้สับแบตเตอรี่ให้ลูกค้า โดยให้ทีมอาร์แอนด์ดี ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบระบบ มีประสบการณ์การทำระบบขนาดใหญ่หลายด้าน อย่างระบบทำนายน้ำท่วม ควบคุมน้ำท่วม รวมถึงคอนโทรลปั๊มน้ำให้กทม. ดังนั้นการออกแบบตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้เป็นออโตเมติกเป็นอะไรที่ไม่ยุ่งยาก และพอพัฒนาออกมาได้สำเร็จก็มองเห็นว่าเป็นโอกาส เลยตัดสินใจทำธุรกิจสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เต็มรูปแบบ


โนฮาวของมาชาร์จทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทีมอาร์แอนด์ดี ของเอเอ็มอาร์ พัฒนาขึ้นมา

        เอเอ็มอาร์ เป็นผู้ออกแบบซอฟแวร์ ตัวเซอร์กิตบอร์ดของมาชาร์จทั้งหมด รวมทั้งการออกแบบตู้สำหรับสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ แล้วส่งให้โรงงานผลิตตามแบบที่ดีไซน์ออกมา โดยเราเป็นผู้ควบคุมคุณภาพของตู้ฯ รูปแบบการทำงานเน้นทำเป็นองค์รวม และผลิตออกมาเป็นแมสโพรดักส์ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง การผลิตออกมาเป็นวอลลุ่มเยอะๆจะทำให้ราคาถูกลง ถ้าผลิตตู้สับเปลี่ยนแบตฯจำนวนน้อยค่าอาร์แอนด์ดีจะแพงมาก


การที่มาชาร์จไม่ได้ให้บริการตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างเดียว หากแต่เป็นระบบที่เป็นออโตเมติก อยากให้อธิบายถึงจุดเด่นที่แตกต่างการสถานีสับเปลี่ยนแบตฯทั่วไป

        MaCharge จะมี Web Application ในการบริหารจัดการข้อมูลจากส่วนกลาง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีฯ ทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ในโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งาน อีกทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ และมีบริการหลังการขาย โดยทีมงานที่เชี่ยวชาญในการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน และแก้ไข


ตอนนี้มีตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่แนะนำสู่ตลาดกี่แบบ

        จริงๆ เรามีตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3 แบบ ตู้มาชาร์จที่เอามาโชว์ในงาน Bangkok EV EXPO เป็นแบบออโตเมติกที่เราออกแบบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แบบที่สองเป็นตู้ออโตโมติกเหมือนกัน แต่เป็นตู้สับแบตเตอรี่ที่เราทำงานร่วมกับเอเจ ไบค์และบิ๊กซี จริงๆ เราติดตั้งและมีการใช้งานไปแล้วบางส่วน ตอนนี้กำลังเตรียมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แบบที่สามคือตู้สับเปลี่ยนแบตฯแมนนวล การทำงานไม่ออโตเมติก แต่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ให้กับมอเตอร์ไซค์ได้หลายยี่ห้อ  นี่คือข้อแตกต่างจากสถานีสับเปลี่ยนแบตฯทั่วไป


สถานีสับแบตเตอรี่ที่ติดตั้งไปแล้วให้บริการอยู่ย่านไหนบ้าง

        ติดตั้งไปแล้วประมาณ 12 จุด ในพื้นที่ของการไฟฟ้าบางกรวย ที่เราไปทำโครงการร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ลูกค้าเป็นเป็นกลุ่มไรเดอร์  มีวินมอเตอร์ไซค์ 70 คนมาใช้ตู้สลับแบต เป็นการทดลองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เมื่อได้ลองเอาไปติดตั้งในพื้นที่ ได้รับฟีดแบ็คกลับมาว่าผู้ใช้บริการแฮปปี้มาก เพราะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเสียงไม่ดัง คนซ้อนไม่ต้องนั่งดมควัน ส่วนมากจะถามว่าซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากที่ไหน ก็เลยกลายเป็นความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า


คิดอัตราการค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ครั้งละเท่าไหร่

        ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ครั้งละประมาณ 25 บาท ถ้าเปรียบเทียบราคารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันนี่ราคารถใกล้เคียงกัน อาจจะต่างกันหมื่นสองหมื่นบาท เวลาใช้มอเตอร์ไซค์น้ำมัน วินส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันประมาณ 150 บาทต่อวัน พอเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า วันนึงอย่างมากก็เปลี่ยนแบตฯแค่ 2 ครั้ง เท่ากับจ่ายค่าเชื้อเพลิงวันละ 50 บาท จะเห็นได้ว่าวินเขามีเงินกลับบ้านเพิ่มขึ้นวันละ 100 บาท เมื่อเทียบกับการที่เขาขับรถน้ำมันแบบเดิม ถ้าหันมาใช้รถไฟฟ้าจะถูกกว่าน้ำมันอย่างน้อย 60%


จุดเด่นตรงนี้เวลาทำตลาดสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จึงต้องเดินหน้าคู่กับแบรนด์มอเตอร์ไซค์

        ใช่ครับ ตอนนี้เราทำตลาดร่วมกับมอเตอร์ไซค์สองสามยี่ห้อ มีของสตาเลียนในโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกำลังทำอีกโครงการหนึ่งร่วมกับเอเจไบค์ ส่วนอีกยี่ห้อตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ ข้อดีของมาชาร์จคือเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถปรับให้เข้ากับมอเตอร์ไซค์หลายๆ ยี่ห้อได้



หากจะลงทุนตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ต้องมีเงินลงทุนประมาณเท่าไหร่

        การลงทุนไม่สูงจนเกินไป ราคาต่อตู้เฉลี่ยประมาณ 3-4 แสนบาท จะถูกหรือแพงราคาขึ้นอยู่กับจำนวนลูกของแบตเตอรี่ หากต้องการลงทุนเรามีออปชั่นให้เลือกสองแบบ คือร้านค้าหรือเจ้าของทำเลลงทุนเองทั้งหมด หรือ ลงทุนร่วมกัน โดยให้เราเอาตู้ไปตั้งแล้วแชร์ค่าใช้จ่ายกัน


ส่วนของเงื่อนไขเป็นอย่างไร

        ต้องเขามาคุยกัน เราพอจะมีเรื่องของการเงินเข้าไปช่วย


ปีนี้ตั้งเป้าหมายทางการตลาดอย่างไร

        ปีนี้ตั้งใจว่าอย่างน้อยจะตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 300-400 ตู้ แต่ละตู้จะมีแบตเตอรี่ให้บริการประมาณ 10 ก้อน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด


มีคนสนใจเข้ามาลงทุนแล้วหรือยัง

        ตอนนี้เรามีพื้นที่วางตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่อยู่แล้ว และกำลังคุยกับลูกค้าต่างจังหวัด เช่น แถวนครสวรรค์ ระยอง และทางภาคใต้ บังเอิญเราได้คุยกับดีพาร์ทเมนท์สโตรเจ้านึง ประมาณซักเดือนมีนาคมจะเปิดตัว เขาเป็นดีพาร์ทเมนท์สโตร์ที่มีสาขาทั่วประเทศอยู่แล้ว ถ้าหากเราไปเปิดตัว ก็จะมีตู้ไปตั้งที่ศูนย์การค้า เขาจะขายมอเตอร์ไซค์ร่วมกับเรา ก็จะกลายเป็นว่ามันเริ่มกระจายแล้ว พอมีตู้แรกตั้งปั๊ป  ตู้อื่นๆ ก็จะตามมา


การไปตั้งตู้ตามห้างนี่ เป็นการขายให้ไรเดอร์ของห้าง หรือของวินมอเตอร์ไซค์

        ทั้งสองอย่าง คือเป็นบีทูบี กับบีทูซี ส่วนหนึ่งของห้าง ส่วนของคนที่เป็นลูกค้าทุกกลุ่มที่สนใจ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นวินมอเตอร์ไซค์


การใช้งานต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนยุ่งยากมั้ย

        ถ้าต้องการรู้ว่าตรงไหนมีตู้อยู่ สามารถดูจากแอพได้ ในแอพจะบอกเลยว่าตู้ไหนอยู่ใกล้ที่สุด แล้วตู้นั้นมีแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟเต็มอยู่มั้ย ถ้ามีก็สามารถกดจองได้เลย ระบบจะให้เวลาให้เข้าไปรับภายใน 15 นาที  ถ้าเกิดเราไม่ได้เข้าไปรับภายใน 15 นาที ระบบจะยกเลิก เพื่อให้คนอื่นมีโอกาสได้ใช้ต่อ เมื่อไปถึงสถานีสับเปลี่ยนแบตฯก็แค่เอาบัตรมาแตะ คือจะมีคิวอาร์โค๊ต พอแตะปั๊ป โปรแกรมก็จะเลือกช่องที่ว่างให้เอาแบตฯไปเสียบ จากนั้นตู้ที่ไฟเต็มแล้วก็จะเปิดออกให้เราหยิบไปใช้ได้เลย ใช้เวลาแค่นาทีเดียวก็ไปทำธุระต่อได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลารอชาร์จ



การขยายสู่ธุรกิจสถานีสับแบตเตอรี่ถือเป็นการต่อยอดความชำนาญของทีมอาร์แอนด์ดีจะส่งผลต่อธุรกิจโดยรวมอย่างไร

        บริษัทฯใช้ศักยภาพความเป็น SI รับงานด้านรับเหมาโครงการแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) การให้บริการสัญญาบริหารจัดการและบริการซ่อมบำรุง (Operation and Maintenance) และการรับดำเนินงานแบบสัมปทานระยะยาวมาโดยตลอด ปัจจุบันมีมูลค่างานที่รอรับรู้รายได้ (backlog) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ จะช่วยผลักดันให้ปีนี้สามารถเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้


ปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายทางการตลาดอย่างไร

        ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของเอเอ็มอาร์ เอเชีย ในปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายให้มีรายได้เติบโต 30-40% จะเน้นรุกขยายธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve ของบริษัทฯ โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวกับกรีนซิตี้และระบบโซลาร์เซลล์ รวมทั้งจะมีการศึกษาและพัฒนาการลงทุนในการใช้พลังงานในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งธุรกิจกรีนทรานสปอร์ต กลุ่ม EV Bike จะมีการเติบโตมากขึ้น ปีที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นธุรกิจเพื่อให้เกิดการยอมรับและนำไปใช้ในรถ EV เช่น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่คนทั่วไปให้ความสนใจและหันมาใช้งานมากขึ้น

        ดังนั้น ในปีนี้จะเดินหน้าขยายธุรกิจนี้เต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีการขยายจำนวนสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping Battery Station) เพิ่มขึ้นอีก 300 ตู้ โดยจะเติบโตไปคู่กับพันธมิตรรายใหญ่ที่มีสถานที่รองรับตู้ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันจะมีการร่วมจัดจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ระบบไฟฟ้าอีกด้วย

 

“มาชาร์จ” แพลตฟอร์มจัดการข้อมูลการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

        สถานีสับแบตเตอรี่ “มาชาร์จ” ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมงานอาร์แอนด์ดี ของบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR หากมองดูผิวเผินอาจจะดูคล้ายตู้สับแบตเตอรี่จักรยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว “มาชาร์จ” คือแพลตฟอร์มที่คิดค้นขึ้นมาอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการใช้บริหารจัดการข้อมูลการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ แบบครบวงจร ผ่านการสร้างสรรค์ให้มีจุดเด่น 8 ด้าน ดังนี้

    1.มีดีไซน์โดดเด่น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งในด้านเชื้อเพลิงและการบำรุงรักษา

    2.ทำหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่

    3.ทำงานรวดเร็ว ทันใจ สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้รวดเร็ว ด้วยตนเอง

    4.ค้นหาสถานีเพื่อเปลี่ยน และจองแบตเตอรี่ล่วงหน้าได้

    5.ให้บริการหลังการขายโดยทีมงานที่เชี่ยวชาญในการบำรุงรักษาเชิงป้องกันและแก้ไข

    6.รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งซ่อมเพื่อเข้าช่วยเหลือ และแก้ไขอย่างทันท่วงที

    7.เก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำมาวิเคราะห์เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ

    8.สามารถรองรับการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ



คุณสมบัติสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่

ด้านไฟฟ้า

แรงดันไฟฟ้า                                       220VAC/50Hz (1phase)

ค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุด                          ~5,650W

 

คุณสมบัติแต่ละช่องชาร์จ

ระดับแรงชาร์จดันสูงสุด                    15 inch

ระดับกระแสชาร์จสูงสุด                    10A

Charger Power Input                  700W

จอแสดงผลการใช้งาน                          15 inch

จำนวนช่องชาร์จ                                    9 ช่อง

การสื่อสาร                                             3G/4G    modem

Dimension (กว้างxยาวxสูง)             10X70X192.6 cm.

ระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล       

 

Mobil Application

        ได้รับการออกแบบมาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ใช้งานสถานีในระบบ จะมีฟังก์ชั่นค้นหาเส้นทางไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุด ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอรี่แต่ละก้อนของแต่ละสถานี และสามารถจองแบตเตอรี่ล่วงหน้าก่อนไปถึงสถานีได้ตลอด นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งปัญหาที่เกิดจากการใช้งานสถานีผ่านแอพพลิเคชั่นได้อีกด้วย


บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR 

        บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “AMR”) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2542 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator: SI) รวมถึงให้บริการงานดูแลรักษาและซ่อมบำรุงระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ แบบครบวงจร ถือหุ้นโดยกลุ่มวิศวกรที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากกว่า 20 ปี

        ภายใต้วิสัยทัศน์ของทีมผู้บริหาร นำโดยนายมารุต ศิริโก ตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้จัดการ ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีที่ถือกำเนิดขึ้นคือสิ่งที่จะกำหนดชีวิต ในอนาคต ส่งผลให้บริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนผ่านโมเดลธุรกิจการบริหารจัดการข้อมูล หรือรูปแบบการให้บริการเข้าสู่ยุคดิจิตอล

        โครงการแรกของบริษัทฯ คือการวางระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์คให้กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นับเป็นก้าวแรกสู่โครงการอื่นๆ  อาทิ การวางระบบค้นหาข้อมูลและการเชื่อมโยงกฎหมายไทยให้กับสำนักงานกฤษฎีกา การติดตั้งและบริการมิเตอร์ไฟฟ้าอัตโนมัติแบบ TOU (Time of Use Rate) ให้กับการไฟฟ้านครหลวง งานระบบตรวจวัดระดับน้ำและอุปกรณ์สำหรับบริหารจัดการน้ำให้กับกรมชลประทาน ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย รวมถึงระบบบริหารจัดการฟรีแท็กโซน แอร์คาร์โก สนามบินสุวรรณภูมิ

        ปี 2548 บริษัทฯ เห็นโอกาสทางธุรกิจด้านการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีระบบคมนาคมขนส่งรองรับการขยายตัวทางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จึงได้เริ่มมีการขยายฐานรายได้ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมวิศวกรรมระบบราง (Railway Engineering System) ในช่วงแรกบริษัทฯ เป็น SI ให้กับผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบรางและอากาศยานระดับโลกรายหนึ่ง ในการนำโซลูชั่นระบบปฏิบัติการเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณ ของผู้ผลิตมาใช้งานร่วมกับระบบรถไฟในประเทศไทยทั้งรถไฟดีเซลและระบบรถไฟฟ้า ในโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายสื่อสารหลัก (Backbone Network) สำหรับโครงการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

        ต่อมาในปี 2549 บริษัทฯ ได้ติดตั้งโครงข่ายระบบสื่อสารและระบบไฟฟ้าสำหรับโครงการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้กับสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวนรวม 27 สถานี และเปลี่ยนชุดระบบอาณัติสัญญาณในรถไฟฟ้า 24 ขบวน

        ปี 2558 บริษัทฯ ลงนามในสัญญาจ้างงานออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (Electrical and Mechanical System: E&M) ระบบเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายใต้ สถานีแบริ่ง-สถานีเคหะฯ จำนวนรวม 9 สถานี และสายเหนือ สถานีหมอชิต-สถานีคูคต จำนวนรวม 16 สถานี และระบบศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot Facilities) จำนวน 2 แห่ง ดำเนินงานภายใต้กิจการร่วมค้า

        ปี 2559 บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาจ้างงานออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) แบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี - สถานีคลองสาน ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่บริษัทสัญชาติไทยออกแบบติดตั้งและบริหารงานระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ ระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง นับเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรอง (Feeder Line) โครงการนำร่องที่ใช้ระบบรถล้อยางแบบไร้คนขับ (Automatic People Mover: APM) แบบเดียวกับที่ใช้ในสนามบินชั้นนำทั่วโลกเป็นขบวนแรกในประเทศไทย

        เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ทีมวิจัยและพัฒนา เปิดตัวสลับแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในโครงการนําร่องการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้าง สาธารณะในพื้นที่อําเภอบางกรวยซึ่งดําเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สนับสนุนนโยบาย EGAT Carbon Neutrality เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ และฝุ่น PM 2.5 จากภาคขนส่ง

        วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 บริษัทฯ ร่วมลงทุนในบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (“RTC”) พัฒนาธุรกิจให้บริการเดินรถขนส่งมวลชนสายรอง (Feeder Line) เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายหลัก โดยลงทุนถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 10.0 ทั้งนี้ ผู้ถือเงินลงทุนส่วนที่เหลือเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งกับบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ และในปีเดียวกันนี้บริษัทฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 50.0 ล้านบาท เป็น 100.0 ล้านบาท และเรียกชำระเต็มจำนวน โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการ


เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้

อินชัวร์เฟรนด์โบรกเกอร์
Call : 063-636-5456  |  02-114-6464
Line ID: @insurefriend ( คลิก http://lineid.me/insurefriend )

My Instagram

Copyright © Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้".