อัพเดตนโยบายและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าของไทย - Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้"

อัพเดตนโยบายและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าของไทย

 

         หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เริ่มลดลง กระแสของยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็วจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้รถส่วนบุคคลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ในอาเซียนเร่งตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

         ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 อินโดนีเซียตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 1 ล้านคัน ภายในปี ค.ศ. 2035 เวียดนามมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3.5 ล้านคันต่อปีภายในปี ค.ศ. 2030 – 2040 มาเลเซียมีเป้าหมายจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 15 ภายในปี ค.ศ. 2030 ส่วนฟิลิปปินส์ยังไม่ประกาศเป้าหมายที่เป็นตัวเลขชัดเจน แต่ประกาศใช้กฎหมายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2022 นี้ เพื่อเพิ่มปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าและลดปริมาณรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในในประเทศ

         ระหว่างปี ค.ศ. 2015-2020 ประเทศไทยผลิตรถยนต์มากที่สุดในประเทศผู้ผลิตยานยนต์ทั้งห้าประเทศ รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ โดยยังเป็นการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นส่วนใหญ่ มีการผลิตรถยนต์ไฮบริดในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น (ภาพที่ 1)

         จากข้อมูลรวบรวมโดย ASEAN Federation of Electric Vehicle Associations พบว่า ฟิลิปปินส์มีปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) มากที่สุดในภูมิภาค ส่วนมากเป็นรถจักรยานยนต์และรถสามล้อ รองลงมาเป็นไทย ซึ่งมีปริมาณรถยนต์ BEV มากที่สุดในภูมิภาค และมาเลเซียที่มียานยนต์ BEV น้อยกว่า 2,000 คัน (ข้อมูลปี ค.ศ. 2020)

        ภาพที่ 1 ปริมาณการผลิตรถยนต์และจำนวน BEV ของกลุ่มประเทศ ASEAN การเริ่มเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนนี้ส่งผลให้ภาครัฐเร่งพัฒนามาตรฐานและกฎระเบียบ รวมทั้งปรับใช้มาตรฐานสากลเพื่อรองรับการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในแต่ละประเทศ

        เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2022 ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐจาก 5 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ในอาเซียน ได้นำเสนอความคืบหน้าด้านมาตรการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนามาตรฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงนโยบายส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในการประชุมความร่วมมือด้านมาตรฐานและกฎระเบียบเกี่ยวกับยานยนต์ระหว่างประเทศจีนและภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 4 หรือ 4th China-ASEAN Co-operation Dialogue on Automotive Standards and Regulations (2022) ที่จัดโดยศูนย์วิจัยและเทคโนโลยียานยนต์จีน (China Automotive Technology and Research Center: CATARC) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

        ประเทศไทยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศให้ “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกภายในปี ค.ศ. 2035” โดยมีเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมด แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะไฟฟ้าสะสม 2,935,000 คัน รถบรรทุกและรถโดยสารไฟฟ้าสะสม 156,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสะสม 3,133,000 คัน และสถานีประจุรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็วสะสม 12,000 สถานี สถานีประจุรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสะสม 1,450 สถานี ภายในปี ค.ศ. 2030

        ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนการจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ BEV เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ. 2021 รถยนต์ BEV จดทะเบียน 2,079 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นการนำเข้าจากประเทศจีนจำนวน 1,290 คัน หรือร้อยละ 60 ของปริมาณรถยนต์ BEV ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่มีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 0.28 ของจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเท่ากับ 754,254 คัน ด้านการจดทะเบียนใหม่ของรถจักรยานยนต์ BEV มีจำนวนทั้งหมด 3,778 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 137 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.25 ของปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์รวม 1,516,096 คัน


        ด้านการส่งเสริมการผลิต คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) ได้ออกประกาศเรื่องการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 มีสาระสำคัญคือ
                1. กำหนดให้ผู้ขอการสนับสนุนเสนอแผนงานที่มีโครงการผลิตยานยนต์ BEV หรือการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับ  

                    รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV Platform) เป็นอย่างน้อย ซึ่งประกอบด้วยระบบกักเก็บพลังงาน (Energy

                    storage system) ระบบประจุไฟฟ้า (Charging module) และระบบเพลาหน้าและหลัง (Front and rear axle

    module)
                2. กำหนดเงื่อนไขให้เริ่มผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูล และผลิตชิ้นส่วนสำคัญ 1 ชิ้น จาก 3 ชิ้น คือ มอเตอร์

   ขับเคลื่อน (Traction motor) ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ และระบบควบคุมการขับขี่ ภายใน 3 ปี นับจากวัน

   ออกบัตรส่งเสริม
                3. สนับสนุนผู้ให้บริการสถานีประจุไฟฟ้า โดยต้องเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์ม

   ส่วนกลางสำหรับบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเข้า

   ด้วยกัน

         ด้านมาตรฐานความปลอดภัย ภาครัฐโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานทั่วไปด้านความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและแท่นประจุไฟฟ้า เช่น มาตรฐานหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐาน CCS 2 สำหรับรถโดยสารไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานความปลอดภัยของแบตเตอรี่ UNECE R100 สำหรับรถยนต์ และ UNECE R136 สำหรับรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

         นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกยังกำหนดว่า รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จะจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2023 เป็นต้นไป ต้องใช้แบตเตอรี่ที่เป็นไปตามมาตรฐาน UNECE R100 หรือ R136 นอกจากนั้น ยังตั้งศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center: ATTRIC) ซึ่งจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2026

         ด้านมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ ภาครัฐประกาศลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและให้เงินอุดหนุนแก่ผู้นำเข้ารถยนต์ที่เป็นผู้ผลิต ภายใต้เงื่อนไขการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วยจำนวนเท่ากับที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภายในปี ค.ศ. 2024 และ 1.5 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2025 รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าเพิ่มเติมในพื้นที่สาธารณะ

         ในปัจจุบัน มีสถานีประจุระบบ AC (กระแสสลับ) ที่ติดตั้งแล้วรวม 1,511 สถานี และสถานีประจุไฟฟ้าระบบ DC (กระแสตรง) ที่ติดตั้งแล้วรวม 774 สถานี โดยอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าที่กำหนดโดยประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 2021 สำหรับสถานีประจุไฟฟ้ายานยนต์แบบ Low Priority ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปและกิจการขนาดเล็กเท่ากับ 2.64 บาทต่อหน่วย

 ที่มา : สถาบันยานยนต์ไทย


เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนีุุ้

อินชัวร์เฟรนด์โบรกเกอร์
Call : 063-636-5456  |  02-114-6464
Line ID: @insurefriend ( คลิก http://lineid.me/insurefriend )







My Instagram

Copyright © Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้".