**ลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ของเอเชียประกันภัย ควรทำอย่างไร ( ละเอียดที่สุด / Update ล่าสุด 20/10/2564 )** - Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้"

**ลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ของเอเชียประกันภัย ควรทำอย่างไร ( ละเอียดที่สุด / Update ล่าสุด 20/10/2564 )**




**ลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ของเอเชียประกันภัย ควรทำอย่างไร
( ละเอียดที่สุด / Update ล่าสุด 20/10/2564 )**


จากกรณีการถูกสั่งปิด (เพิกถอนใบอนุญาต) ของบริษัทเอเชียประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแลในเรื่องการเรียกร้องค่าชดเชยนั้น ทางทีมงานอินชัวร์เฟรนด์ได้สอบถามโดยตรงไปยังกองทุนประกันวินาศภัย ได้ข้อมูลล่าสุด (ยังไม่ได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการ) ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ถือกรมธรรม์ของเอเชียประกันภัย ดังต่อไปนี้

---- [ สรุปประเด็นสำคัญ ] ----
  • ประกันโควิด เฉพาะผู้ที่ได้แจ้งเคลมแล้ว และทางเอเชียประกันภัย นัดรับเงินในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2564 ให้ไปแจ้งที่กองทุนประกันวินาศภัย ได้ตั้งแต่วันนี้เลย ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถทำอะไรได้ในตอนนี้
  • กรมธรรม์ของเอเชียประกันภัยทั้งหมดถูกยกเลิกแล้ว แต่ยังเรียกร้องเงินชดเชยได้ หากเกิดเหตุต้องจ่ายก่อน และไปเรียกร้องเงินชดเชยภายหลัง ซึ่งอาจจะไม่ได้รับเต็มจำนวน เพราะไม่มีผู้คุมราคาก่อนซ่อม
  • ควรย้ายไปทำประกันกับบริษัทอื่นทันที โดยจะได้ส่วนลดจากมูลค่ากรมธรรม์เดิมที่เหลือ + ส่วนลดอีก 10%
  • วิธีการโอนมูลค่ากรมธรรม์เดิม ยังไม่ชัดเจน ว่าลูกค้าจะต้องทำเรื่องโดยตรงกับบริษัทประกันใหม่ หรือผ่านนายหน้า(ตัวแทน)ประกัน ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการ
  • ประกันโควิด ถ้าจะทำต่อ ให้ย้ายไปทิพยประกันภัยเท่านั้น แต่จะไม่มีแบบ เจอ-จ่าย-จบ แล้ว
  • เปิดให้ลงทะเบียนเรียกร้องเงินชดเชย / เงินคืน เป็นระยะเวลา 60 วัน






---- [ รายละเอียด ] ----
  • กองทุนประกันวินาศภัย (กองทุนฯ) จะส่งจดหมายถึงผู้ถือกรมธรรม์ของเอเชียประกันภัย (ลูกค้าเอเชียประกันฯ) ทุกคน ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อยืนยันรายละเอียดกรมธรรม์ที่เหลืออยู่ และแนวทางในการเรียกร้องค่าชดเชย
  • เฉพาะลูกค้าเอเชียประกันฯ ที่ได้ทำเรื่องขอสินไหมประกันโควิดไว้แล้ว และมีกำหนดวันรับเงินสินไหม ในช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. 2564 ให้เดินทางไปทำเรื่องร้องเรียนได้ตั้งแต่วันนี้ ที่สำนักงานกองทุนประกันวินาศภัย (ติดต่อ : ดูข้อมูลเพิ่มเติมด้านล่าง)
  • จะเปิดให้ลูกค้าเอเชียประกันฯ ลงทะเบียนเรียกร้องสินไหม หรือขอเงินคืน จากมูลค่ากรมธรรม์ที่เหลืออยู่ ได้ (คาดว่า)วันที่ 1 ธ.ค. 2564 – 29 ม.ค. 2565 ผ่าน 2 ช่องทาง คือ ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ (จะมีหน้าลงทะเบียน) หรือ ติดต่อโดยตรง ที่สำนักงาน คปภ. ใกล้บ้าน โดยหลักฐานที่ใช้ คือ กรมธรรม์เอเชียประกันภัย ที่ยังไม่หมดอายุ รวมทั้ง หลักฐานการชำระเงินจากการสำรองจ่ายต่างๆ หลักฐานการเกิดเหตุ เช่น ใบแจ้งความ กรณีเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงเอกสารของผู้เอาประกัน เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือรับรองบริษัท
  • มูลค่ากรมธรรม์ที่เหลืออยู่ (มูลค่าเวนคืน) จะคำนวณจากระยะเวลาของกรมธรรม์ที่เหลืออยู่ นั่นคือ นับจากวันที่ลงทะเบียนเรียกร้อง (ไม่ใช่วันที่เอเชียประกันภัยถูกสั่งปิด) จนถึงวันที่สิ้นสุดกรมธรรม์ วิธีการคำนวณมูลค่ากรมธรรม์ที่เหลืออยู่ตามตาราง (อาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมบางส่วนซึ่งยังไม่ได้ระบุ)
  • ลูกค้าเอเชียประกันฯ ที่ต้องการเปลี่ยนกรมธรรม์ไปเป็นบริษัทประกันภัยอื่น สามารถ ใช้สิทธิ์โอนมูลค่าเวนคืน หรือมูลค่าของกรมธรรม์ที่ยังเหลืออยู่ ไปเป็นส่วนลดในการทำกรมธรรม์กับบริษัทประกันภัยใหม่ พร้อมทั้งจะได้ส่วนลด 10% ของเบี้ยประกันของกรมธรรม์ใหม่ด้วย (ยกเว้น พรบ. และ ประกันโควิด) ซึ่งมีอยู่ 13 บริษัทประกันภัย ที่เข้าร่วมให้ความช่วยเหลือนี้ ตามรูป
  • เฉพาะประกันโควิด ปัจจุบันมีบริษัทที่รับประกันภัย คือ ทิพยประกันภัย เพียงบริษัทเดียว แต่แผนประกันภัย จะไม่มีแบบ เจอ-จ่าย-จบ แบบเอเชียประกันภัย มีเพียงประกันที่คุ้มครองกรณีโคม่า เท่านั้น ดังนั้นลูกค้าจะต้องเปลี่ยนแผนความคุ้มครอง หากต้องการซื้อประกันโควิดต่อ และเลือกได้เพียงบริษัทเดียวคือ ทิพยประกันภัย
  • กรมธรรม์ใหม่ที่ทำกับบริษัทประกันภัยอื่นนี้ จะเป็นกรมธรรม์แบบเต็มปี (คือเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่) ไม่ใช่กรมธรรม์ทดแทนกรมธรรม์เดิม ดังนั้นจึงมีส่วนต่างที่ลูกค้าเอเชียประกันฯ จะต้องชำระเพิ่ม จากระยะเวลาความคุ้มครองที่ยาวนานขึ้น คือ สิ้นสุดหลังกรมธรรม์ฉบับเดิมที่ทำกับเอเชียประกันภัย
  • ในการเรียกร้องสินไหม (เคลมประกัน) หากเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากไม่มีบริษัทเอเชียประกันภัยแล้ว จึงไม่มีผู้อนุมัติราคา (คุมราคาซ่อม) ดังนั้น มูลค่าที่เรียกร้องจากการซ่อม อาจไม่ได้ตามจำนวนที่ชำระไป เนื่องจากกองทุนฯจะแต่งตั้งผู้ที่จะพิจารณามูลค่าเงินชดเชยของแต่ละรายก่อน ยกเว้น กรณีที่ลูกค้าเอเชียประกันฯ ที่ได้แจ้งเคลมไว้และได้อนุมัติวงเงินการซ่อมมาก่อนหน้านี้แล้ว สามารถเรียกร้องเงินชดเชยจากกองทุนฯได้ตามจำนวนเงินที่ซ่อมจริง แต่ทั้งนี้ จะไม่เกิน 1 ล้านบาท
  • กรณีมีการคุมราคาการซ่อมมาก่อนหน้านี้แล้ว สามารถนำรถไปซ่อมได้ แต่ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน (เนื่องจากอู่/ศูนย์น่าจะไม่ซ่อมให้ฟรี) แล้วจึงนำหลักฐานไปเรียกร้องเงินชดเชยภายหลัง
  • ลูกค้าเอเชียประกันฯ ที่เกิดเหตุและมีการซ่อมแล้ว สามารถเรียกร้องเงินชดเชยจากกองทุนฯ และยังคงสามารถใช้สิทธิ์ในการโอนมูลค่ากรมธรรม์เดิมที่เหลืออยู่ เพื่อเป็นส่วนลดในการทำกรมธรรม์กับบริษัทประกันภัยอื่นได้ด้วย

---- [ สิ่งที่ลูกค้าเอเชียประกันฯ ควรทำ ] ----
  • เพื่อความคุ้มครองที่ต่อเนื่อง ควรติดต่อกับนายหน้า(ตัวแทน)ประกันของท่าน ทันที เพื่อเตรียม(เตรียมก่อนนะครับ ยังไม่ต้องทำก็ได้) ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยอื่น หากมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา ในเรื่องการโอนมูลค่ากรมธรรม์เดิมที่เหลืออยู่ไปเป็นส่วนลดในการทำประกันกับบริษัทประกันภัยใหม่ (น่าจะภายในสัปดาห์นี้) แต่ถ้าใครคิดว่าไม่อยากรอรับส่วนลดนี้ ก็สามารถทำประกันฉบับใหม่ได้ทันที แล้วจึงค่อยไปเรียกร้องเงินชดเชยจากมูลค่ากรมธรรม์ที่เหลืออยู่ในภายหลัง (ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป)
  • กรณีลูกค้าเอเชียประกันฯ ที่ซื้อประกันโควิด หากต้องการประกันโควิดต่อไป จะต้องเลือกประกันโควิดกับ ทิพยประกันภัยเท่านั้น โดยโอนมูลค่ากรมธรรม์เดิมที่เหลืออยู่ ไปเป็นส่วนลดกรมธรรม์ใหม่
  • หากไม่ต้องการทำประกันกับบริษัทประกันภัยอื่น แต่ต้องการเรียกร้องมูลค่ากรมธรรม์ที่เหลืออยู่คืน จะต้องรอจนถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป เพื่อลงทะเบียนเรียกร้องผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ สำนักงานคปภ. ใกล้บ้าน (ดู Link ข้อมูลเพิ่มเติมด้านล่าง)
  • กรณีเกิดอุบัติเหตุและเป็นฝ่ายผิด จะต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐาน และจะต้องสำรองเงินจ่ายค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน โดยจะต้องเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อนำไปเรียกร้องเงินชดเชยจากกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป เช่นกัน
  • กรณีเกิดอุบัติเหตุและเป็นฝ่ายถูก ให้ใช้สิทธืในการซ่อมผ่านประกันภัยของคู่กรณี




---- [ ข้อมูลเพิ่มเติม ] ----
  • กองทุนประกันวินาศภัย : อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 11-15 และ 21-24
  • สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง : เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line OA : @oicconnect
  • สำนักงาน คปภ.ภาค และ จังหวัด : https://www.oic.or.th/th/region
---- [ หมายเหตุ ] ----
***ข้อมูลทั้งหมดยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

My Instagram

Copyright © Insure Friend Broker - "เรื่องประกันภัย ไว้ใจเพื่อนคนนี้".